บทใคร่ครวญ

Photo by Marcus Wöckel from Pexels

แดง ขาว ดำ เขียว

กุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก เพราะผู้คนเกือบทั่วโลกจะเฉลิมฉลองวันวาเลนไทน์ในทุก ๆ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันที่คนทั่วไป (โดยเฉพาะคนที่ขี้อาย) จะได้มีโอกาสแสดงออกถึงความรัก แต่นอกจากวันวาเลนไทน์แล้ว รู้หรือไม่ว่า ยังมีการเฉลิมฉลองวันสีขาว (วันที่ 14 มีนาคม) และวันสีดำ (วันที่ 14 เมษายน) ในบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ในประเทศตะวันออก (รวมถึงประเทศไทย) วันวาเลนไทน์เป็นวันที่ทุกคน (ไม่คำนึงถึงเพศหรือายุ) สามารถให้ของขวัญเพื่อแสดงความชื่นชมแก่ใครสักคน แต่ในประเทศญี่ปุ่นวันวาเลนไทน์นั้นถูกสงวนไว้ให้เฉพาะผู้หญิง โดยสาว ๆ จะมอบของขวัญเป็นช๊อกโกแลตหรือกุหลาบสีแดงให้ผู้ชายที่ตนชอบ (อาจจะให้ซึ่ง ๆ หน้าหรือแอบให้ก็ได้) แต่สำหรับผู้ชายนั้นต้องรอคอยจนถึงวันที่ 14 มีนาคม ถึงจะสามารถสารภาพความรู้สึกที่มีต่อผู้หญิงได้ โดยวันดังกล่าวในญี่ปุ่นเรียกว่า “วันสีขาว” หนุ่ม ๆ จะเป็นฝ่ายส่งมอบช๊อกโกแลตสีขาวหรือลูกอมให้แก่หญิงสาวที่ตนหลงรัก (เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเคยได้รับกระเป๋าแบรนด์เนมแสนแพงที่มีลูกอมอยู่เต็มกระเป๋าในวันสีขาวนี้)

แต่สำหรับคนที่พลาดไปในทั้งวันวาเลนไทน์และวันสีขาวนั้น ในประเทศเกาหลีใต้เหล่าคนโสดหรือผู้ถูกปฏิเสธรักจากสองวันก่อนหน้านั้น จะเฉลิมฉลอง “วันสีดำ” โดยการรับประทานอาหารที่มีสีดำ โดยเมนูที่ได้รับความนิยมมากคือ บะหมี่ราดน้ำถั่วดำหรือจาจังมย็อน (หากเป็นบ้านเราคงเป็นผัดซีอิ้วหรือพะโล้)

และสำหรับในประเทศไทยเอง เรามักจะชอบแซวคนที่อกหักจากวันแห่งความรักหรือคนที่กำลังผิดหวังกับอะไรสักอย่างให้ไปดื่มน้ำใบบัวบก (เพื่อแก้ช้ำใน) ซึ่งแม้ว่าในโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ของเราจะไม่มีขาย แต่เราก็มักจะได้ทานใบบัวบกในวันที่โรงเรียนฯ สั่งผัดไทยมาเลี้ยงตอนเที่ยง

โดยสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากเทศกาลต่าง ๆ ในเดือนแห่งความรักนี้คือ แม้เราจะอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่คนแต่ละคนก็อาจจะอยู่ในช่วงชีวิตที่แตกต่างกันไป บางคนอาจมีความรัก บางคนอาจกำลังถูกใครสักคน (แอบ) รัก และอาจมีใครบางคนที่กำลังต้องการความรักความเอาใจใส่อยู่ก็เป็นได้

ฉะนั้น ในสุดสัปดาห์นี้หากเป็นไปได้ขอให้เรามีโอกาสใคร่ครวญว่า มีใครบ้างที่เราอยากจะให้เขารับรู้ว่าเราชื่นชมเขาอยู่ หรือใครบ้างที่อาจจะทำดีกับเรามาตลอด และใครบ้างที่เราพอที่ช่วยรักษาใจที่บอบช้ำของเขาได้

ถ้าพวกท่านปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า อย่างแท้จริงตามพระคัมภีร์ที่ว่า
“จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” พวกท่านก็ทำดี
- ยากอบ 2:8 THSV11

อ้างอิง

Photo by Tracy Le Blanc from Pexels

ปล่อยมือ(ถือ)

ในยุคสมัยที่คุณแม่สั่งสอนลูกผ่านทางแชทบนเฟสบุ๊ค มนุษย์ในปัจจุบันพึ่งพาเทคโนโลยีมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงแม้โลกออนไลน์จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็แอบซ่อนอันตรายไว้ไม่น้อยเช่นกัน โดยภัยที่อาจเข้ามาอย่างเงียบ ๆ คือ พฤติกรรมการกลัวไม่เป็นคนสำคัญหรือ Fear Of Missing Out หรือ FOMO โฟโม (ไม่ใช่โฟร์โมสต์นะ) เป็นความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า กลัวตัวเองตกกระแสหรือหลุดกลุ่ม ซึ่งสาเหตุของอาการดังกล่าวนอกจากความอิจฉาแล้ว ยังมีรากเหง้าจากความรู้สึกไม่มั่นคงอีกด้วย

ทุกวันนี้หลาย ๆ คน อาจจะรู้สึก (หรือโดยไม่รู้ตัว) ถูกล่ามโซ่ไว้กับมือถือ เราเปิดมือถือเพื่อเช็คว่าจะไม่พลาดอีเมลจากหัวหน้างาน ลืมตอบรับคำชวนไปงานเลี้ยง หรือกลัวไม่ได้คอมเมนต์ในโพสต์สุดร้อนแรง จากการวิจัยพบว่า คนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 36% รู้สึกว่าตนเองมี “ความเครียด” จากการเสพติดอินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์ ภาวะความเครียดจากพฤติกรรม “FOMO” ในกลุ่มคนไทย สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอันดับ 1 อินเดีย และ อันดับ 2 รัสเซีย

ในเรื่องราวการกำเนิดโลกในพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงสร้างโลก สิ่งมีชีวิตและมนุษย์ใน 6 วัน ส่วนวันที่ 7 พระองค์ทรงพัก เพราะพระองค์ทรงอยากเป็นแบบอย่างให้เราพักผ่อน การมีวินัยในการพักผ่อนคือ ยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้และไม่มีอะไรแน่นอน โดยสิ่งเดียวที่แน่นอนในชีวิตคือ เราจะล้มเหลวในหลาย ๆ ครั้ง (มากครั้งกว่าที่เราอยากจะยอมรับ) แต่ไม่ว่าเราจะรู้สึกแย่กับตัวเองขนาดไหน ก็ไม่สิ่งใดที่จะพรากคุณค่าของตัวเราไปได้

ในสิ้นสัปดาห์นี้ อยากเชิญชวนให้เรามาล้างพิษดิจิตอลด้วยกัน ลองทิ้งมือถือไว้กับสายชาร์จ เอนตัวนอนลงนิ่ง ๆ สักครู่ รับรู้ถึงน้ำหนักของร่างกายที่แผ่อยู่บนเตียง ใช้มือรับรู้ผิวสัมผัสของผ้าปู ค่อยรับรู้ถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ปวดเมื่อย พร้อมนับและกำหนดลมหายใจเข้าออก เรียกใจที่ล่องลอยอยู่กลับมา แล้วคิดถึงใครสักคนที่รักเรา ใส่ใจและค่อยช่วยเหลือเราตลอดมา ทบทวนว่าเราชื่นชมเขาขนาดไหน แม้ว่าเราอาจจะไม่ค่อยได้บอกขอบคุณเขาเท่าที่ควร

ปล่อยให้ตัวเองได้ร้องไห้หรือยิ้มกับความรู้สึกนั้น และขอให้รับรู้ว่ากำลังมีใครสักคนที่ชื่นชมเราในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน


นอกเหนือจากการฝึกวินัยแล้ว ขอให้อ่อนโยนกับตนเอง

ตัวเธอเป็นบุตรของจักรวาล ไม่น้อยไปกว่าต้นไม้หรือดวงดาว

เธอมีสิทธิที่จะมีตัวตน

แม้ว่าบางครั้งอาจไม่ชัดเจน แต่จักรวาลกำลังคลีคลายในทางที่ควร

บทกวีโดย แมกซ์ เออร์มาน Max Ehrmann


ทุกคนเป็นบุตรที่รักของพระเจ้า พระองค์ทรงรักเราอย่างที่เราเป็น เราที่ดีบ้างร้ายบ้างในชีวิต เราที่ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามคาดหวัง แต่พระองค์ทรงทันเหตุการณ์และทันเวลาเสมอ


อ้างอิงเกี่ยวกับ FOMO

คนละไม้คนละมือ

หนึ่งวิธีการที่ประเทศไทยใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ “การติดตามผู้สัมผัส” (Contract tracing) ซึ่งต้องยอมรับว่าชาวไทยส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอย่างมือถือสมาร์ทโฟนหรือการใช้เงินแบบไร้เงินสด การติดตามผู้เสี่ยงติดเชื้อจึงเป็นแบบเคาะประตูบ้าน ส่งผลให้ชื่อของ “อสม.” ผู้เปรียบได้ดังมดงานของกระทรวงสาธารณสุขได้รับการกล่าวถึงจนเป็นที่ติดหูไปแล้ว อสม. ย่อมาจาก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นการตอบสนองของรัฐบาลไทยต่อ “คำประกาศอัลมา อตา (Alma Ata Declaration)” ขององค์การอนามัยโลกในการประชุมว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐาน ที่เมืองอัลมา อตา สหพันธรัฐรัสเซีย ในเดือนกันยายน พ.ศ.2521 ซึ่งที่ประชุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศเป็นผู้รับผิดชอบและจัดหากลวิธีที่เหมาะสมเพื่อให้ประชากรของตัวเองเข้าถึงภาวะสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าในปี 2543 (Health for All by the Year 2000) ซึ่งที่จริงก่อนที่จะมีคำประกาศดังกล่าว ประเทศไทยก็ได้มีอาสาสมัครที่ทำงานด้านสุขภาพเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคมาลาเรียอยู่แล้วกลุ่มหนึ่งในช่วงปี 2504-2505 โดยหน้าที่หลักของ อสม. คือ การให้ความรู้หรือแจ้งข่าวสารแก่ชาวบ้าน การสำรวจข้อมูลหมู่บ้าน เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) การสำรวจประชากร ข้อมูลการฉีดวัคซีน หมู่บ้าน รวมถึงการรณรงค์เพื่อการควบคุมโรคที่เกิดเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล โดยเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น บทบาทหน้าที่ในการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดนั้น ๆ จะถูกกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ของอสม. ในขณะนั้นทันที เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดนก รวมถึง COVID-19 ในครั้งนี้ ซึ่งผลการทำงานของ อสม. ได้รับคำชมจากนานาประเทศทั่วโลก เพราะถึงแม้เจ้าหน้าที่ อสม. ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปหรือ “ชาวบ้าน” จะไม่ได้จบการศึกษาในระดับสูงเหมือนบุคลากรทางการแพทย์ตามความรู้สึกของคนทั่วไป แต่หากไม่มีพวกเขาแล้วระบบสาธารณสุขของประเทศไทยก็คงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเกิดผล

สัปดาห์ที่ผ่านมามูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทยจัดให้เป็นวันระลึกถึงพันธกิจการแพทย์ ซึ่งนับว่าเหมาะเจาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่งและหากจะสังเกตรูปแบบการทำพันธกิจของมิชชันนารีในสมัยก่อนจะเห็นได้ว่า มีการจัดตั้งหน่วยงานสามอย่างในบริเวณที่ไปประกาศเสมอ นั่นคือ โบสถ์ โรงเรียนและโรงพยาบาล แม้ว่าคริสตชนจะเชื่อเรื่องสวรรค์และชีวิตหลังความตาย แต่พระเยซูก็ไม่เคยละเลยที่จะรักษาผู้ป่วยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยจะเห็นตัวอย่างจากเรื่องราวที่เพื่อน 4 คนช่วยกันหย่อนเพื่อนที่ป่วยลงมาจากหลังคาให้พระองค์รักษา (พระธรรมมาระโก บทที่ 2 ข้อ 1-12)

วิกฤตกาลโรคโควิด-19 นี้ นอกจากจะเตือนให้เราหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยแล้ว ยังช่วยสอนให้เรากลับมาใคร่ครวญเรื่องการคิดถึงผู้อื่นและการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังตัวอย่างของเหล่า อสม. และเพื่อน 4 คน ในพระคัมภีร์ หากร่วมไม้ร่วมมือกันทำสิ่งเล็กๆ น้อย ๆ เช่น ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน และให้ความร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ เราทุกคนสามารถมีส่วนในการต่อสู้กับโรคร้ายและนำพาโรงเรียนของเราให้ผ่านวิกฤตกาลนี้ไปได้

'คนจำนวนมากก็มาชุมนุมกันจนล้นออกไปถึงนอกประตู ขณะที่พระองค์กล่าวพระวจนะให้พวกเขาฟังอยู่นั้น มีคนสี่คนหามคนง่อยคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถเข้าไปถึงตัวของพระองค์เพราะมีคนมาก พวกเขาจึงเจาะดาดฟ้าตรงที่พระองค์ประทับนั้น และเมื่อทำเป็นช่องแล้ว พวกเขาก็หย่อนแคร่ที่คนง่อยนอนอยู่ลงไป เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นความเชื่อของพวกเขา พระองค์จึงตรัสกับคนง่อยว่า “ลูกเอ๋ย บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” ' - มาระโก 2:2-5

อ้างอิง

สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ. (2020, June 06). อสม. มดงานในระบบสุขภาพไทย - hrdo.org สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.). Retrieved January 11, 2021, from https://hrdo.org/อสม-มดงานในระบบสุขภาพไท

ศูนย์พัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. (2018, June). ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๔. Retrieved January 11, 2021, from http://www.esanphc.net/ihsd/wp-content/uploads/2018/05/ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข-ว่าด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน-2554.pdf-2554.pdf.

การเข้าใจเป็นพร

ในเช้าวันจันทน์ ระหว่างที่กำลังรอให้รถคันหน้าเขยื้อนไป เอนเจสังเกตเห็นหมาจรจัดตัวหนึ่งเดินอย่างอ่อนแรงบนถนนก่อนที่มันจะโซเซเลี้ยวเข้าไปในวัดที่อยู่ข้าง ๆ ที่ทำงานของเอนเจ “หน้าตามันช่างเศร้าเสียจริง” เอนเจคิดในใจ หลังเลิกงานวันนั้น เอนเจตัดสินใจเดินไปตามหาหมาตัวดังกล่าวที่วัด และพบว่ามันกำลังนอนหลบแดดอยู่ใต้เตนท์ เอเจนหยิบขนมปังออกจากกระเป๋า วางขนมลงบนพื้น และพยายามทำท่าทางเชิญชวน แต่หมาตัวนั้นกลับเห่าใส่ ก่อนที่จะส่งเสียงขู่และเดินจากไป เอเจบ่นกับตัวเองว่า “ว้า ขนมนั้นตั้งแพง รู้งี้เก็บไว้กินเองดีกว่า” แต่แล้วก็มีคำถามผุดขึ้นมาในใจว่า “อะไรที่ทำให้มันอารมณ์เสียขนาดนั้นนะ”

เราทุกคนคงเคยตั้งคำถามในลักษณะคล้าย ๆ กัน เช่น ทำไมวันนี้เพื่อนร่วมงานเราดุจัง ฉันจะทำยังไงกับเด็กพวกนี้ดีนะ หรือทำไมชีวิตมันแย่อย่างนี้

มีคำคมจีนโบราณกล่าวไว้ว่า “บนชั้นสูงสุดของหอคอยมี ชื่อเชียง หรือเงินทอง ไม่ก็ผู้หญิง” โดยหมายความของคำคมดังกล่าวคือ ที่แท้จริงแล้วคนทุกคนแสวงหาการยอมรับจากทั้งตนเองและผู้อื่น เพียงแต่เราให้นิยามของความสำเร็จไม่เหมือนกัน บางคนทุ่มเทเพื่อความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน หากใครมาตำหนิงานก็จะโมโหได้ง่าย บางคนมุ่งไปที่ลูก หากลูกหลานไม่ประสบความสำเร็จก็จะรู้สึกอับอาย คนรุ่นใหม่อาจจะให้ความสำคัญกับยอดไลค์หรือจำนวนผู้ติดตามทางโซเชียล จนยอมให้เพื่อน ๆ แกล้งเพียงเพราะกลัวคนเลิกติดตาม

โดยในการจะเข้าใจใครสักคนนั้น เราต้องรับรู้ว่าอะไรคือ แรงจูงใจหรือสิ่งที่กระตุ้นให้แต่ละคนก้าวไปข้างหน้า รวมถึงอะไรบ้างที่ทำให้เขาหงุดหงิดหรือท้อใจ ซึ่งการพยายามเข้าใจในลักษณะดังกล่าว เราสามารถใช้ได้กับทั้งผู้อื่นและตนเองและแม้ว่าในท้ายที่สุด เราจะไม่สามารถเข้าใจทั้งตัวเองหรือผู้อื่นได้อย่างถ่องแท้ (เหมือนกับที่เอนเจ ไม่มีวันที่จะเข้าใจหมาวัดตัวนั้นได้) แต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายาม และสิ่งที่อาจสำคัญเหนือความเข้าใจ ก็คือ “ความเมตตา” ที่เราต้องมีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

ข้าแต่พระเจ้า

ขอเมตตาประทานความเข้าใจแก่ข้าพระองค์

โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เข้าใจความรู้สึก ความต้องการและเป้าหมายของผู้อื่น

และในขณะเดียวกัน ขอช่วยให้ข้าพระองค์เข้าใจทั้งการกระทำและการตอบสนองของตนเอง

ให้สายตาของข้าพระองค์เห็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากโลกส่วนตัว

และพร้อมที่จะยอมรับและรักโลกของผู้อื่นด้วย


คงก้าวเดิน

เลอบรอน เจมส์ เพิ่งคว้าแชมป์บาสเกตบอล NBA ประจำฤดูกาล 2019-20 ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยนอกจากจะช่วยให้ทีม แอลเอ เลเกอร์ส คว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีแล้ว นี้ยังเป็นการได้แชมป์ครั้งที่ 4 ของเลอบรอน ในวัย 35 ปี โดยในตอนต้นฤดูกาลผู้คนมากมายต่างพากันสบประมาท หาว่าเขาแก่ไปบ้าง หมดยุคของเขาแล้วบ้าง แต่เลอรอนก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นอีกครั้งว่า หากเรามีวินัยในการฝึกฝนและพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ เราก็สามารถประสบความสำเร็จแม้ว่าจะอายุมากแล้ว

ลูวิส แฮมิลตัน นักแข่งรถชาวอังกฤษที่อายุ 35 ปี เช่นกัน เป็นหนึ่งในนักแข่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันรถสูทหนึ่ง โดยลูวิสสามารถคว้าแชมป์โลกไปแล้ว 6 สมัย (ตาม ไมเคิล ชูมัคเกอร์ อยู่เพียงสมัยเดียว) และเป็นผู้ครองสถิติคว้าอันดับหนึ่งจากการแข่งขันไปแล้วทั้งหมด 91 สนาม (เสมอกับชูมัคเกอร์) โดยลูอิสได้เขียนลงในอิสตราแกรมว่า เขาประสบปัญหาในการกระตุ้นตัวเองอย่างมากในช่วงปิดโควิดที่ผ่านมา บางครั้งเขาไม่ออกกำลังกายเลยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ติด แต่อย่างไรก็ตามเขาได้ให้กำลังใจผู้ติดตามของเขาว่า เพียงเราเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ สุดท้ายเราก็จะกลับไปยังเป้าหมายได้ โดยลูอิสเริ่มต้นจากการค่อย ๆ ซิดอัพวันละยก จนกระทั้งตอนนี้กลับมาฟิตสมบูรณ์อีกครั้ง

มันช่างเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินที่เราจะเผลอปล่อยชีวิตให้ลอยไปในวังวนเดิม ๆ นักจัดรายการพอดแคส ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า การทำงานประจำวันก็เปรียบเสมือนการแปรงฟัน แม้น่าเบื่อแต่หากทำดีแล้วก็จะทำให้สุขภาพฟันแข็งแรงอยู่กับเราไปได้นาน แต่หากไม่ใส่ใจมันแล้ว แม้แปรงทุกวันก็มีแต่จะส่งผลเสีย

ชีวิตจิตวิญญานของเราก็เช่นกัน เรามักจะยุ่งอยู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบหรือกิจกรรมมากมายจนกระทั่งหลงลืมที่จะใส่ใจความคิดและจิตวิญญานของตัวเอง แต่ดังตัวอย่างข้างบนแสดงให้เราเห็นว่า เราต้องใช้ทั้งศักยภาพด้านรายกายและใจควบคู่กันจึงประสบความสำเร็จได้ ซึ่งภูมิปัญญาจากคนโบราณ เช่น การสวดมนต์ก่อนนอนของชาวพุทธ การละมาดวันละ 5 ครั้งของชาวมุสลิม หรือการอธิษฐานขอบพระคุณก่อนรับประทานอาหารของชาวคริสต์ ล้วนแต่ช่วยให้เราปรับสภาพอารมณ์และความรู้สึก ตลอดจนให้สงบและเวลาในใคร่ครวญถึงคุณค่าของชีวิต แต่ถ้าใครคิดว่าการปฎิบัติดังกล่าวนั้นล้าสมัย ก็อาจจะลองเขียนบันทึกประจำวันหรือหาเวลาหยุดนิ่ง ๆ เพื่อชื่นชมสิ่งรอบข้างได้

คณะกรรมการศาสนกิจ ของอวยพระพรให้ทุกท่านสำหรับวันหยุดนี้

ขอบพระคุณ

สำหรับทุกแสงอรุณ

สำหรับที่ล้มตัวนอน

สำหรับสุขภาพและอาหาร

สำหรับความรักและมิตรภาพ

สำหรับทุกสิ่งที่พระเจ้าประทาน

—Ralph Waldo Emerson (1803–1882)

แบบฝึกหัดดนตรี

ความโกลาหลเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังจากที่ครูดนตรีสั่งให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด แท้จริงแล้วแบบฝึกหัดดังกล่าวไม่ได้ยากเลย เพียงให้เคาะแป้นพิมพ์ตามจังหวะที่ปรากฏบนหน้าจอมคอมพิวเตอร์ โดยคะแนนจะคิดตามความแม่นยำในการเคาะตามจังหวะดังกล่าว และนักเรียนสามารถทำแบบฝึกหัดซ้ำกี่ครั้งก็ได้ เพื่อให้ได้คะแนนที่ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นเพราะความช้าของการอินเตอร์เนต ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่พบความท้าทายในการทำแบบฝึกหัดดังกล่าว บางคนเริ่มบ่นว่าจริง ๆ ตัวเองเล่นเกมส์เก่งมาก แต่เพราะกิจกรรมดังกล่าวน่าเบื่อตนเลยไม่สนใจที่จะทำ อีกคนสองคนส่งเสียงกรีดร้องและทุบคีย์บอร์ด หลายคนยอมแพ้อย่างเงียบ ๆ และเปิดดูเว๊ปอื่นแทน

ในท้ายชั่วโมง เด็ก ๆ ต่อว่าครู และบอกว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ได้คะแนนเต็ม คุณครูยิ้มและตอบว่า แบบฝึกหัดดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ใครได้คะแนนเต็ม แต่มีไว้เพื่อดูพัฒนาการจากการทำแบบฝึกหัดในแต่ละครั้ง

ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในชีวิต แม้ว่าท่าทีอาจแตกต่าง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว บ่อยครั้งที่เราตอบสนองปัญหาในลักษณะเดียวกับเด็ก ๆ หลายคนพร่ำบ่นกับอุปสรรคและเฝ้าคิดถึงแต่ความสำเร็จในอตีด บางคนอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวคุกคาม หรือในทางตรงข้ามก็ยอมแพ้อย่างเงียบ ๆ และเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งที่คุ้นเคยกว่า

ชีวิตของเราเต็มไปด้วยความคาดหวังมากมายทั้งจากตนเองและสังคม เรามีสิ่งที่ควรจะสำเร็จ ในช่วงต่าง ๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนจบ รับปริญญา มีงานทำ มีแฟน แต่งงาน มีรถ มีบ้าน มีลูก มีหลาน มีเงินทอง แต่ท้ายที่สุดเราก็จะพบกับความผิดหวัง เพราะเราไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในทุก ๆ อย่างได้

เราต้องคอยเตือนตนเองอยู่เสมอว่า แท้ที่จริงแล้ว การก้าวหน้า คือ การค่อย ๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และชีวิตย่อมมีอุปสรรค เราสามารถที่จะท้อบ้าง แพ้บ้าง แต่ต้องไม่ถอดใจ หยุดหรือล้มเลิก แต่เรากลับลืมตัวตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ และทำทุกอย่างเพื่อให้ไปถึงที่หมาย โดยละเลยเสียงเรียกร้องจากทั้งร่างกายและอารมณ์ของตนเองไป เพียงที่จะสะดุดล้มบนความมุ่งมั่นของตนเองในท้ายที่สุด

ในสุดสัปดาห์นี้ คณะกรรมการศาสนกิจ ขอหนุนใจให้ทุกท่านใคร่ครวญ ว่าตนเองมีท่าทีตอบสนองต่ออุปสรรคอย่างไร ขอให้นั่งพักสักนิด พยายามนึกถึงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน และค่อย ๆ คิดว่าในวันนี้มีความท้าทายใดบ้างที่ควรทุ่มเทพลังงานลงไป ทำทีละอย่าง อย่ารีบร้อน

ชีวิตฝ่ายจิตวิญญานก็เช่นกัน พระเจ้าไม่ได้คาดหวังให้เราสมบูรณ์แบบ พระองค์พยายามตรัสกับเราอย่างกับที่ครูดนตรีบอกเด็ก ๆ ว่า เป้าหมายของชีวิตไม่ใช่การเป็นคนที่ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ไม่มีใครดีพร้อม ทุกคนเคยพลาดพลั้งในอดีตและจะยังคงทำผิดพลาดในอนาคต แต่การใช้ชีวิต คือ เรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น ยอมรับมัน ให้อภัยและขอโทษทั้งตนเองและผู้อื่น พยายามปรับปรุงพัฒนาและก้าวต่อไป

ทุกคนล้วน แสวงหา การยอมรับ

เป็นแรงขับ คอยพลักดัน ยันเป้าหมาย

แต่มักมี เหตุสะดุด สุดอับอาย

ฝันดีกลาย เป็นฝันร้าย ทุกคราไป

เมื่อปัญหา ย่างกราย เข้ามาเยือน

โปรดคอยเตือน ใจของตน อย่าหวั่นไหว

แม้ชีพนี้ ต้องร้าวราน สักเท่าใด

อย่าหมดไฟ ไม่สิ้นหวัง คงก้าวเดิน

อจินไตย

พระธรรมโยบ ในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ พันธสัญญาเดิม ได้อธิบายถึง “สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้” (อ่าน เพิ่มเติม) ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ คำสอนในพุทธศาสนาว่าด้วย “อจินไตย” ซึ่งมาจากคำว่า อะ (ไม่) + จินไตย (พึงคิดพิจารณา) แปลรวมได้ว่า ไม่พึงคิดหริอจำแนกตรรกะลงไปได้ หรือไม่ควรไปคิดถึงมาก เพราะคิดไปก็มีแต่จะให้ให้บ้า ให้เดือนร้อน โดยอจินไตย แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยในส่วนที่ 4 คือ “โลกวิสัย” หรือการเป็นไปของโลก ซึ่งรวมถึงวิบากกรรมด้วย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีเรื่องมากมายในโลกนี้ที่เราไม่สามารถอธิบายได้ เช่น “ทำไมคนดีถึงเดือดร้อน” หรือในทางกลับกัน “ทำไมคนชั่วกลับเจริญรุ่งเรือง”

ปีการศึกษาใหม่นี้ อาจเต็มไปด้วยความวุ่นวายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องใช้ชีวิตแบบ “เว้นระยะห่างทางสังคม” ที่ส่งผลต่อการจัดห้องเรียน การเรียนการสอนที่แปลกใหม่ การที่ต้องทำความสะอาดบ่อยขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังคงน่ากังวลอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ (แต่ขอบพระคุณพระเจ้าที่เรายังคงมีงานทำ) นอกจากผลกระทบเรื่องงานแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรากับคนในครอบครัวด้วย เช่น ผู้สูงอายุหลาย ๆ คนไม่กล้าออกบ้าน หรือลูกหลานติดโซเชียลมากขึ้น วัน ๆ เอาแต่เล่นมือถือ ชีวิตทุกวันนี้เหมือนจะเต็มไปด้วยปัญหาจริง ๆ หลายคนอาจจะสงสัยและถามพระเจ้าเหมือนโยบ ว่า “ทำไมเราถึงต้องประสบกับความยากลำบากเช่นนี้”

ในเวลานี้ อาจจะเป็นเรื่องน่าขบขันที่จะบอกให้เราทุกคน “มีความเชื่อ” แต่การมีความเชื่อที่แท้จริงนั้นไม่ใช่การปฏิเสธความทุกข์ แต่คือการยอมรับถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ รับรู้ความไม่สมบูรณ์ของโลกใบนี้ ผู้คน รวมถึงตนเองด้วย และเชื่อมั่นว่าเราสามารถมีส่วนในการแก้ปัญหาได้ โดยการพัฒนาตนเองไปวันละเล็กวันละน้อย หากวันนี้ทำงานมีปัญหา ก็จงยอมรับ กลับบ้านพักผ่อน คิดทบทวน ทิ้งสิ่งที่เหนือการควบคุมไว้เบื้องหลัง จากนั้นค่อย ๆ พยายามปรับปรุงตัวเราเองไปทีละก้าวในวันต่อไป โดยไม่หมดความเชื่อในตนเองและเพื่อนร่วมงาน หากเหนื่อยมาก ก็ขอพระเจ้าช่วยเสริมกำลังได้

คณะกรรมการศาสนกิจ ขออนุญาตอธิษฐานเผื่อทุกท่าน ขอพระเจ้าโปรดเมตตาประทานสันติสุขทั้งกายและใจแก่ทุกท่านตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ ร่วมทั้งขอให้ทุกท่านกลับมาในสัปดาห์ต่อไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า แม้ว่าบางก้าวนั้นอาจจะทำให้เราต้องเจ็บปวดบ้างก็ตามที

'ข้าพระองค์ทราบว่า พระองค์ทรงทำทุกสิ่งได้ และพระประสงค์ของพระองค์จะสำเร็จ

พระองค์ตรัสว่า ‘นี่ผู้ใดหนอได้ซ่อนคำปรึกษาโดยปราศจากความรู้?’

เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงกล่าวถึงสิ่งที่ข้าพระองค์ไม่เข้าใจ

สิ่งที่ประหลาดเกินกว่าข้าพระองค์จะทราบ'

โยบ 42:2-3 (THSV 2011)

วันพืชมงคล

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันพืชมงคล อันเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ โดยพิธีดังกล่าวยังคงคุณค่าและถือว่าเป็นมิ่งขวัญกำลังใจสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวไทยทุกคนที่ลักษณะอาชีพยังต้องพึงฟ้าฝนอยู่ โดยคนส่วนมากที่ติดตามพิธีนี้ก็มักจะลุ้นเรื่องสิ่งที่พระโคกินและเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ซึ่งปีนี้งดไปเนื่องด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19

ทั้งนี้ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี จะมีการการเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ 2 อย่าง อย่างแรกพระยาแรกนาหยิบนุ่งทับผ้านุ่งลาย 3 ผืนที่มีความยาวต่างกัน ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่

อย่างที่สอง คือ การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ใพระราชพิธีเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานที่แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนี่งใช้ในการหว่านในระหว่างพระราชพิธี อีกส่วนหนึ่งจะถูกบรรจุใส่ซ่องแล้วส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรซึ่งรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปีถัดไป เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีและเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป

ดังเช่นการพยากรณ์ เป็นธรรมดาที่เราอยากจะรู้ถึงอนาคต และมันไม่เสียหายที่จะคาดหวังถึงอนาคตที่ดีหรือสดใส หากเรายังรับรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันและพยายามที่จะปรับตัวหรือพัฒนาให้ดีขึ้น

เช่นเดียวกับ ข้าวพระราชทาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าปีที่แล้วผลผลิตจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยเกษตรกรก็มีต้นทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ พร้อมกำลังใจในการเริ่มต้นใหม่ ในปีใหม่

เราอาจเศร้าหรือรู้สึกท้อกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความไม่สะดวก ความกลัวหรือกังวล การต้องปรับตัวและอาจต้องทำงานหนักขึ้น แต่ขอบคุณพระะเจ้าที่ยังไม่มีใครในชุมชนของเราล้มป่วยลง เราทุกคนยังมีวันใหม่ ที่พระเจ้าประทานให้เราได้แสวงหาพระองค์และแสดงความรักต่อผู้คนรอบข้าง

ขอขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับการพักผ่อนในค่ำคืนที่ผ่านไป

ขอบพระคุณที่พระองค์ทรงประทานวันใหม่ซึ่งเปี่ยมไปด้วยโอกาสทำความดี

ขอประทานอิสรภาพที่จะรับใช้ในทุก ๆ ชั่วโมง

และในยามเย็น ขอให้เรามีโอกาสได้ขอบพระคุณ

ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า

คำอธิษฐานเริ่มวันใหม่ คริสตจักรตะวันออก

แหล่งข้อมูล https://www.thaipost.net/main/detail/65604

วันฉัตรมงคล

ในบางครั้งเราเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โดยไม่รู้ตัว วันจันทร์ที่จะถึงนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ ชาวไทยจะเฉลิมฉลอง วันฉัตรมงคล ในวันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นการฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 1 ปี ของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 10

ในชีวิตของเราต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะดีหรือร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยร้ายของโรคระบาด เราต้องปรับตัวต่อมาตรการต่าง ๆ บางคนติดตามข่าวเรื่องโควิด-19 ทุกวัน เพราะรู้ว่า คำแถลงการณ์นั้นอาจส่งผลกับการใช้ชีวิตของตนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การกินข้าว การทำงานหรือกระทั้งวันหยุด ซึ่งในความเป็นมนุษย์ การที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนยอมสร้างความรู้สึกกังวล

ซึ่งความกังวลหรือความกลัว ไม่ใช่สิ่งไม่ดี บาป หรือเป็นบ่งชี้ถึงความอ่อนแอ เพราะการตื่นตัวในลักษณะดังกล่าว เป็นสัญชาติญานในการป้องกันตัวเพื่อการอยู่รอดที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด แต่สิ่งที่เราต้องทำในท่ามกลางความไม่แน่นอนต่าง ๆ นี้ ก็คือ การแยกแยะว่าสิ่งใดที่เราควบคุมได้ และสิ่งไหนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

สำหรับสิ่งที่ควบคุมได้ เราอาจจะต้องเริ่มสร้างความมั่นใจจากการทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำสำเร็จอย่างง่าย ๆ ก่อน และค่อย ๆ เพิ่มความยากขึ้น เช่น เริ่มจากการตื่นนอนเป็นเวลา การดื่มน้ำสักแก้วในตอนเช้า การเก็บเตียง หรือการออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือใครคิดอะไรง่าย ๆ ไม่ออกก็ลองอธิษฐานในใจสั้น ๆ ก็ได้

ส่วนสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของเรานั้น เราควรรับรู้ข้อมูลอย่างเหมาะสม เตรียมพร้อมรับมือสำหรับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายที่สุด และสุดท้ายปล่อยวางมันไป ในตอนแรกการปล่อยวางอาจจะยาก จึงอยากขอแนะนำให้ ลองสมมุติให้วัตถุที่จับต้องได้สักอย่าง เช่น แก้วกาแฟ เป็นตัวแทนความกังวลของเรา ให้เราลองยกแก้วขึ้นมาดู ลองสัมผัสลักษณะพื้นผิวของแก้ว ว่าเรียบหรือขรุขระ แก้วหนักหรือเบา แก้วสีอะไร เย็นหรืออุ่น หลังจากที่สำรวจพอประมาณแล้ว ให้เอาแก้วไปล้างและทิ้งไว้ให้แห้ง การฝึกใจในลักษณะดังกล่าว จะช่วยให้เรารู้ว่าสิ่งใดที่ควรปล่อยวาง

ขอเชิญชวนว่าในระหว่างการล้างแก้ว ลองอธิษฐานกับพระเจ้าและขอพระองค์ช่วยให้เราสามารถแยกแยะและปล่อยวางสิ่งที่อยู่เกินการควบคุมของเราให้พระองค์ดูแล

ขอปิดท้ายบทภาวนานี้ด้วยคำอธิษฐานของ นีบัวร์ ว่า

ข้าแต่พระบิดาเจ้า

ขอประทานความกล้าหาญให้ข้าพระองค์

ลงมือทำในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

ยอมรับในสิ่งที่ไม่อาจแก้ไข

และสติปัญญาที่จะแยกแยะทั้งสองจากกัน

รูปโดย เด็กหญิงชื่อ ออโรร่า จากเมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี

รักษาระยะห่าง เสริมสร้างความสัมพันธ์

“เราทุกคนล้วนคือ คลื่นในทะเลเดียวกัน ใบไม้บนต้นเดียวกัน ดอกไม้ในทุ่งหญ้าเดียวกัน” เซเนคา นักปรัชญาชาวโรมัน

โลกของเราตอนนี้อาจดูสิ้นหวังสำหรับเราทุกคน ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ผู้คนทุกยุคสมัยล้วนต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่อาจมาเยือนในรูปแบบของภัยสงครามหรือโรคภัย แต่ประวัติศาสตร์เองก็ย้ำเตือนกับเราว่า วิกฤตสร้างวีรชน ฉะนั้นนอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่เราได้หยุดพักและใคร่ครวญถึงคุณค่าของชีวิตแล้ว ยังเป็นเวลาอันดีที่เราจะได้ชื่นชมผู้คนมากมายที่ตอบสนองความมืดมนด้วยความกรุณา (รวมทั้งตัวเราเองด้วย)

ภายใต้กระแสข่าวมากมายเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เรายังพอที่จะได้พบเห็นข่าวที่ทำให้ชื่นใจอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลจีนส่งเครื่องมือทางการแพทย์กว่า 30 ตัน ไปช่วยเหลือประเทศอิตาลีพร้อมกับทีมแพทย์ โดยทั้งเครื่องมือและทีมอาสาสมัครส่วนใหญ่มาจากมณฑลเสฉวน ซึ่งในอดีตเคยประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในปี ค.ศ. 2008 และในวิกฤติครั้งนั้น อิตาลีเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือส่งทีมเข้าไปช่วยกู้ภัยในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งการที่คำคมของ เซเนคา ได้ถูกพิมพ์ลงบนกล่องเครื่องมือแพทย์ที่จีนส่งไปให้อิตาลีนั้น แสดงให้เห็นว่าชาวจีนไม่เคยลืมความเมตตาของอิตาลีในครั้งนั้นเลย หรือจะเป็นเรื่องราวของหญิงสาวชาวอังกฤษที่ในระหว่างการฉลองวันเกิดของตนเองได้พยายามเข้าไปปกป้องเพื่อนชาวจีนจากการคุกคามของผู้ชายคนหนึ่งจนโดนลูกหลงหมดสติไป ใกล้ ๆ บ้านเราก็มีเรื่องราวของหญิงชาวสิงค์โปร์ที่ทนดูคนแก่ต่อคิวเพื่อรอซื้อหน้ากากอนามัยที่ร้านขายยาใกล้ ๆ บ้านของเธอไม่ได้ จนต้องสั่งซื้อหน้ากากจากต่างประเทศเข้ามาแจกให้คนชราในชุมชมของตน ในบ้านเราเองผู้ผลิตสุราหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนสายการผลิตของตน เพื่อให้สามารถผลิตแอลกอฮอลสำหรับล้างแผล และนำไปบริจาคแก่โรงพยาบาลท้องถิ่น หรือจะเป็นกระแสทั่วโลกที่ผู้คนใช้สื่อออนไลน์สร้างเครื่อข่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องกักบริเวณตนเองหรือคนชราในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การส่งน้ำส่งข้าว หรือซื้อของใช้ที่จำเป็น

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่แบ่งแยกเราออกจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็คือความสามารถในการเลือกตอบสนองต่อภัยอันตราย แม้ว่าปฎิกิริยาแรกของเราอาจจะอยู่บนพื้นฐานของสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แต่เมื่อตั้งตัวได้มนุษย์เรามักจะให้ความช่วยเหลือกันในยามยากเสมอ

แม้ว่าสัปดาห์นี้ สำหรับหลาย ๆ คน อาจจะเป็นสัปดาห์ที่ยากลำบากที่สุดเท่าที่เคยอยู่มาในโรงเรียนนานาชาติเชียงใหม่ แต่ขอให้เราได้ให้เวลาตนเองตั้งสติ หยุดพักจากสื่อออนไลน์ วางความกังวลทั้งหมดลง และย้ำเตือนตนเองว่า เราไม่ได้โดดเดียวท่ามกลางวิกฤตนี้ และใคร่ครวญว่าเราจะสามารถหนุนใจคนอื่นให้รู้สึกอย่างนั้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความให้กำลังใจสั้น ๆ หรือการยกหูโทรหาถามไถ่ความเป็นไปของกันและกัน กุญแจสำคัญการเอาชนะโรคระบาดครั้งนี้อยู่ที่ การรักษาระยะห่าง แต่คงไว้ซึ่งความสัมพันธ์

'อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย '

ฟีลิปปี 2:4


ความกลัว

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิท-๑๙ ที่รุนแรงดังพายุ หลาย ๆ คนอาจหวาดผวาเมื่อได้อ่านข่าวตามสื่อต่าง ๆ หลายคนอาจกำลังโกรธแค้นผู้ที่มีพฤติกรรมอันไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม หลายคนอาจกำลังวิตกกังวล อาจเกิดภาวะสินค้าขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป กระดาษชำระ หรือกระทั่งน้ำดื่ม

ชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ เรากำลังมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวว่าเชื้อโรคดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง โดยตัวเลขของผู้ตกงานกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจำนวนผู้ป่วย

แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถหลีกหนีจากความวิตกกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะความเป็นห่วงญาติพี่น้องที่อาจกำลังอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือแม้กระทั่งตัวเราเองว่าจะทำอย่างไรหากต้องโดนกักบริเวณ

ดังคำพูดที่ตัวละคร ฟอร์เรสท์ กัมพ์ ได้กล่าวไว้ในภาพยนต์ว่า “ชีวิตก็เหมือนกล่องช็อกโกแลต คุณไม่รู้หรอกว่าจะได้กินอะไร” เพราะแท้จริงแล้วชีวิตเราก็เหมือนภาพตัดต่อของเหตุการณ์และปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เรามีความจำกัดในสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ และการปล่อยให้ความคิดวนเวียนอยู่กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นั้นมีแต่จะส่งผลเสียต่อตนเองและคนรอบข้าง

ฉะนั้นในสิ้นสัปดาห์นี้ แม้จะยาก แต่ก็อยากหนุนใจให้ทุกคนได้มีโอกาสใคร่ครวญถึง “ความกลัว” ต่าง ๆ ที่เรามี โดยเราอาจจะเริ่มจากการเขียนความกลัวต่าง ๆ ลงบนแผ่นกระดาษ (ความกลัวหนึ่งอย่างต่อแผ่น) หลังจากนั้นให้ลองเขียนวิธีการรับมือปัญหานั้น ๆ ลงตามไป เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้ทิ้งแผ่นกระดาษของความกลัวที่เราไม่สามารถหาแก้ไขได้ และติดแผ่นกระดาษของความกลัวที่เรามีวิธีการรับมือไว้บนที่ซึ่งมองเห็นได้ง่าย และให้พยายามฝึกปฏิบัติแนวทางการรับมือกับความกลัวเหล่านั้นตลอดสัปดาห์ใหม่ที่จะถึงนี้

พระเจ้าทรงเป็นที่ลี้ภัยและเป็นกำลังของ ข้าพระองค์ทั้งหลาย

เป็นความช่วยเหลือที่พร้อมอยู่ในยามยากลำบาก

ฉะนั้นเราจะไม่กลัว แม้ว่าแผ่นดินโลกจะเปลี่ยนแปลงไป

แม้ว่าภูเขาทั้งหลายจะโคลงเคลงลงสู่สะดือทะเล

แม้ว่าน้ำทะเลคึกคะนอง และฟองฟู

แม้ว่าภูเขาสั่นสะเทือนเพราะทะเลอลวนนั้น

สดุดี ๔๖ ข้อ ๑-๓

พุธขี้เถ้า

พุธขี้เถ้า ถือว่าเป็นวันแรกในเทศกาล เข้าสู่ธรรม (หรือมหาพรต) ของชาวคริสต์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ โดยวันดังกล่าวสำหรับคริสเตียนส่วนใหญ่แล้วถือว่าเป็นการเริ่มต้นช่วงการถืออด สำหรับบางกลุ่มเป็นวันไปโบสถ์เพื่อใคร่ครวญและรับการเจิมกางเขนขี้เถ้าบนหน้าผาก แต่สำหรับคริสตชนไทยส่วนมากแล้ว วันดังกล่าวคือวันรับถุงอดออมเพื่อการแบ่งปันสำหรับผู้ยากไร้ ซึ่งนอกเหนือจากความหมายเหล่านี้แล้ว วันพุธขี้เถ้ายังเป็นเครื่องเตือนเราให้รำลึกถึงความตายอีกด้วย

วันพุธขี้เถ้าถือว่าเป็นวันแรกในเทศกาลเข้าสู่ธรรม ซึ่งเป็นเวลา 6 สัปดาห์ก่อนถึงวันพระเยซูจะสิ้นพระชนม์ โดยชาวคริสต์เชื่อว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าว พระเยซูรู้ตัวว่าความตายกำลังจะมาเยือน แม้จะโศกเศร้า แต่ในช่วงเวลาที่พระองค์เหลืออยู่นั้น พระองค์ได้ทำพันธกิจสำคัญ ๆ มากมาย ที่กล้าหาญและท้าทายกับระบบการเมืองหรือความเชื่อในยุคสมัยนั้น

ชาวคริสต์จึงถือโอกาสใช้ช่วงเวลาเข้าสู่ธรรมนี้ ใคร่ครวญถึงความตาย หรือที่ในศาสนาพุทธเรียกว่า “มรณสติ” โดยเริ่มจากการสำรวจตนเองว่าได้รับพระพรมากมายเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นชีวิต สุขภาพ ครอบครัว คนรัก ญาติสนิทมิตรสหาย ความสามารถหรือหน้าที่การงาน และระลึกว่าทุกสิ่งเหล่านั้น ล้วนเป็นของประทานจากพระเจ้า (เป็นสิ่งไม่เที่ยง) และพระองค์อาจจะเรียกกลับคืนไปเมื่อไรก็ได้ เมื่อระลึกได้แล้วก็ควรใคร่ครวญต่อว่าเราจะสามารถแบ่งปันพระพรเหล่านั้นให้กับใครได้บ้างผ่านทางถุงอดออม โดยการอดออมนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในลักษณะของการกินเท่านั้น (โรงเรียนคริสเตียนบางแห่งในต่างประเทศ ถึงขั้นเปลี่ยนเมนูอาหารให้เรียบง่าย เพื่อให้นักเรียนได้ระลึกว่าเด็ก ๆ ที่ยากไร้ต้องกินอาหารอย่างไร) แต่ยังสามารถอยู่ในรูปการละสิ่งที่เราเสพติด เช่น การเล่นมือถือ การซื้อหวย กาแฟสด หมูกระทะ การดูหนังในโรงภาพยนตร์ หรือสิ่งฟุ่มเฟือยอื่น ๆ

แม้ “ความตาย” อาจดูเป็นสิ่งที่ไกลตัวสำหรับคนส่วนมาก แต่หากเราลองหยุดเพื่อใคร่ครวญว่าแท้จริงแล้ววันนั้นอยู่ใกล้ตัวเราเหมือนเงาที่ติดตามไปทุกที่แล้ว (เพราะในความเป็นจริงเราอาจตายเมื่อไรก็ได้) เรายังจะปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่กระทำอยู่หรือไม่

ฉะนั้น วันพุธขี้เถ้า แม้จะมีมิติของการระลึกว่าความตายนั้นอยู่ใกล้ตัวเราเพียงใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราจมลงสู่ความเศร้าหมอง หดหู่ ตรงกันข้ามกลับกระตุ้นให้เรามีความชื่นชมยินดีในทุก ๆ วันที่พระเจ้าประทานให้เรา เพื่อให้เราสามารถรับรู้คุณค่าและความหมายของสิ่งมากมายที่เรามีอยู่และสามารถที่จะส่งต่อให้ผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนโยน ความจริงใจ ที่สามารถแสดงออกผ่านการกระทำหลากหลายรูปแบบ

จึงขอปิดท้ายบทใคร่ครวญนี้ด้วย บางส่วนของ “บทสวดแก่ดวงตะวัน” ของ นักบุญฟรานซิส

ขอบพระคุณ สำหรับพระพรทุกอย่าง

โดยเฉพาะดวงตะวัน ผู้นำเราสู่วันใหม่ ผ่านแสงแห่งอรุณ

รังสีสวยสดและงดงาม

ดุจดังพระองค์

ขอบพระคุณ สำหรับดวงจันทร์และดวงดาว

บนฟ้าสวรรค์พระองค์ทรงประดับไว้ระยิบระยับสดใส

ขอบพระคุณ สำหรับสายลม

ทั้งที่อ่อนโยนและโหมกระหน่ำ สรรเสริญสำหรับทุกฤดูกาลที่พระองค์ทรงประทาน

ขอบพระคุณ สำหรับสายน้ำ

มากคุณค่า อ่อนโยน และบริสุทธิ์

ขอบพระคุณ สำหรับเพลิงไฟ

ที่โชติช่วงในยามค่ำคืน สวยงาม รุกเร้า และทรงพลัง

ขอบพระคุณ สำหรับพื้นดิน

ที่อุดมด้วยพืชผล และดอกไม้ใบหญ้าสีสันนานา

ขอบพระคุณ ที่พระองค์ทรงให้อภัยด้วยความรักเมตตา ทั้งผู้ที่เจ็บป่วยหรือถูกข่มเหง

โปรดเสริมกำลังให้พวกเขาสามารถอดทนด้วยสันติ

โดยพระองค์พวกเขาจะได้รับพระพร

ขอบพระคุณสำหรับความตาย

ที่ไม่มีใครสามารถหลีกหนี วิบัติจงมีแด่ผู้ที่ระเริงในบาป

แต่สันติสุขจงมีแด่ผู้ที่ดำเนินชีวิตในหนทางของพระองค์

กลับสู่พื้นฐาน

ได้ยินหลาย ๆ คน กล่าวว่าเดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านพ้นไปช่างรู้สึกยาวนานเหลือเกิน อาจเป็นเพราะไม่มีวันหยุดเลยนับตั้งแต่เปิดปีใหม่ แต่ข่าวดีวันหยุดแรกของปีนี้กำลังจะมาถึงแล้วในวันจันทร์หน้านี้ โดยวันจันทร์หน้าคือวันมาฆบูชา เป็นวันที่พี่น้องชาวพุทธในประเทศกัมพูชา ลาว ไทยและศรีลังกา เข้าวัดทำบุญให้ทานนั่งสมาธิและฟังธรรม เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการ์วันที่พระจันทร์เต็มดวงที่สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย โดยพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น และล้วนแต่เป็นผุ้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆองค์ โดยพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส อันเป็นหลักคำสอนที่เป็นพื้นฐานและตรงไปตรงมา

เราทุกคนเมื่อเติบโตและรอบรู้ขึ้น ก็จะมีความเข้าใจโลกมากขึ้น สามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นร่วมทั้งเตรียมต้วป้องกันสิ่งที่เป็นภัยได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ฉลาดขึ้นก็จะรู้ว่ามีปัจจัยมากมายจำนวนนับไม่ได้ที่ส่งผลต่อชีวิต และความตระหนักนี้เองมักจะทำให้เรากังวลและเครียด

บางครั้งวิตกจนรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังจมน้ำวน และหากรู้สึกเช่นนั้นทางออกที่ดีที่สุดอาจเป็นการหยุดนิ่งและกลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า เรากำลังมีสติหรือไม่ สิ่งที่เรากำลังทำส่งผลดีต่อตนเองและคนรอบข้างหรือไม่ แล้วอาจค้นพบว่าหากเราแสวงหาให้น้อยลง เราอาจกลับค้นพบมากขึ้น

มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะตกลงสู่ความถือตัวและการทำลายตนเองหากเราลืมที่จะย้อนกลับมามองตัวตนที่แท้จริงของเรา ว่าเราเป็นใครอะไรที่ทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง ฉะนั้นในสุดสัปดาห์นี้ ขอให้เราได้ใช้เวลาในการพักผ่อนและทบทวนว่าแท้จริงแล้วการใช้ชีวิตอย่างไรที่ทำให้ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้างมีความสุข และเรากำลังดำเนินชีวิตอย่างนั้นอยู่หรือไม่

สุดท้ายนี้พี่น้องทั้งหลาย ขอจงใคร่ครวญดูสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่น่านับถือ สิ่งที่ยุติธรรม สิ่งที่บริสุทธิ์ สิ่งที่น่ารัก สิ่งที่ควรแก่การสรรเสริญ รวมทั้งถ้ามีสิ่งใดที่ยอดเยี่ยม สิ่งใดที่น่ายกย่อง- ฟีลิปปี 4:8

อั่งเปา

สำหรับปี ค.ศ. 2020 นี้ เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มต้นตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (เสาร์ที่ 25 มกราคม) หลายประเทศที่มีคนเชื้อสายจีน เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเก็า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไต้หวันและไทย ซึ่งมีประชากรเชื้อสายจีนประมาณ ร้อยละ 15 (ในโรงเรียนของเรามีประมาณร้อยละ 17) ต่างร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลินี้ และเพื่อเป็นการให้เกียรติพี่น้องชาวจีน เราอาจถือโอกาสหยิบเสื้อผ้าสีแดงสดใสมาใส่ (เพราะอาจจะหาโอกาสอื่นลำบาก) และควรหลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าสีดำขาวด้วย

ในประเทศไทยเอง พี่น้องเชื้อสายจีนมีขนบธรรมเนียมในการเฉลิมฉลองอยู่ทั้งหมด 3 วัน ได้แก่ “วันจ่าย” คือวันที่ใช้จับจ่ายอาหารและสิ่งของที่จำเป็นในพิธีไหว้ ต่อมาคือ “วันไหว้” เป็นวันที่ทุกคนกลับไปยังบ้านเกิด เพื่อทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าและระลึกถึงบรรพบุรุษ หลาย ๆ ครอบครัวอาจเผากงเต็ก และจุดประทัด เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน ส่วนวันสุดท้ายคือ “วันเที่ยวหรือวันถือ” อันเป็นวันสำหรับออกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้าน หรือไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

แต่ประเพณีที่ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของตรุษจีนในไทย ก็คือการให้ “อั่งเปา” ซึ่งมีความหมายว่า “ถุงแดง” โดยผู้ใหญ่จะเตรียมซองสีแดงที่ภายในบรรจุเงินสำหรับให้ลูกหลานที่มาเยี่ยม โดยคนจีน ถือว่าอั่งเปาเป็นขวัญหรือสิ่งนำโชคสำหรับการเริ่มต้นปีใหม่จีน

เข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านบทใคร่ครวญนี้ คงเลยอายุรับอั่งเปามาสักพักแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่มันคงเป็นการดีไม่น้อยหากเราจะใช้เวลาทบทวนว่าปีนี้เราได้ให้อั่งเปากับใครบ้าง อั่งเปาในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเอาเงินสดใส่ซองและไล่แจกคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน แต่หมายถึง การกระทำที่แสดงถึงความชื่นชมผู้อื่น

เพราะเช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องการส่งมอบความสุขของอั่งเปา การกระทำความดีกับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มเล็ก ๆ ในตอนเช้า คำทักทายนิดน้อยขณะรอกาแฟ หรือการซื้อขนมมาฝากกันหลังจากไปทานข้าวข้างนอก ล้วนแล้วแต่สามารถเป็นการอวยพรและอาจช่วยทำให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกดีขึ้นได้

ฉะนั้นขอหนุนใจทุกท่าน ในสิ้นสัปดาห์นี้ลองทบทวนว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านไปเราได้ให้อั่งเปาแห่งความชื่นชม แก่คนในครอบครัวหรือชุมชมของเราหรือยัง และลองใคร่ครวญว่าเราจะสามารถมอบอั่งเปาให้ใครได้บ้างในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

พระวจนะของพระเจ้าได้ย้ำเตือนเราในเรื่องนี้ว่า

"จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พวกท่านต้องการให้พวกเขาปฏิบัติต่อท่าน เพราะนี่คือธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะ"

มัทธิว 7:12


วันเด็ก 2020

"เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย"

คณะกรรมการศาสนกิจโรงเรียนฯ ขออวยพรปีใหม่และต้อนรับทุกท่านกลับสู่โรงเรียนอันเป็นที่รักของเรา โดยหวังว่าทุกท่านนอกจากจะได้มีโอกาสพักผ่อนในช่วงวันหยุดกับครอบครัวและเพื่อนฝูงแล้ว ยังมีโอกาสหามุมสงบเพื่อใช้เวลาใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นปีที่ผ่านไปและอะไรมากมายที่กำลังจะมาในปี 2020 นี้

โดยสิ่งแรกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ก็คือ “วันเด็กแห่งชาติไทย” ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปีนั้นเอง สำหรับงานวันเด็กแห่งชาติในไทยมีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์แรกของเดือน ต.ค. พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

ซึ่งกิจกรรม “วันเด็กแห่งชาติ” ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก แทบทุกประเทศในโลกต่างร่วมเฉลิมฉลองวันดังกล่าว เพียงแต่กำหนดวันที่แตกต่างออกไป เช่น ในประเทศจีนกำหนดเป็นวันที่ 1 มิถุนายน, ญี่ปุ่น คือวันที่ 5 พฤษภาคม, สหรัฐอเมริกาจัดใน อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ส่วนเพื่อนบ้านของเราอย่างเมียนมาร์กำหนดไว้เก๋ไก๋เป็นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี

สำหรับวันเด็กแห่งชาติไทยแล้ว นอกจากการพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมสนุก ๆ มากมายแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจกับ “คำขวัญวันเด็ก” จากนายกรัฐมนตรี โดยคำขวัญประจำปี ค.ศ. 2020 นี้คือ "เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมืองไทย"

ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน “ความสามัคคี” มักจะมาในรูปแบบ “การตอบสนอง” ต่อ “อุปสรรคหรือความท้าทาย” การ “สามัคคี” กลายเป็นเพียงพฤติกรรมเพื่อความอยู่รอด แทนที่จะเป็นธรรมชาติหลักหรือลักษณะนิสัยพื้นฐานของเรา ยิ่งไปกว่านั้นเรายังคุ้นเคยกับการแสวงหาความสามัคคีจากผู้คนหรือหลักการที่เรารู้จัก มากกว่าการพยายามแสวงหาความคล้ายคลึงกับผู้คนที่ดูแตกต่างออกไป

ฉะนั้น คงจะเป็นการดีหากเราจะเริ่มต้นปีใหม่ โดยการพยายาม “สามัคคี” กับ “ผู้อื่น” โดยเราสามารถเริ่มต้นจากการเปิดใจรับฟังผู้ซึ่งแลดูว่ามีมุมมองหรือแนวคิดที่ต่างออกไป และหากเราเริ่มรู้สึกเบื่อ อึดอัดหรืออารมณ์เสียกับคู่สนทนาของเรา ขอหนุนใจให้พูดกับตนเองว่า “ฟัง ฟัง ฟัง เขากำลังพยายามอธิบายอะไรอยู่” อย่างน้อย 3 รอบ เพราะอย่างน้อยในท้ายที่สุด เราก็ได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ หรือ ไม่แน่ อาจจะพบกับความ “สามัคคี” กับบุคคลที่เราไม่เคยคาดคิดไว้เลยก็เป็นได้

ขอปิดท้ายบทภาวนานี้ด้วยคำอธิษฐานของ อาจารย์ เจ แมคเดนเนียล, อาจารย์ประจำวิชาศาสนา วิทยาลัยเฮนตริค รัฐอาคันซอ

สำหรับยุคสมัยนี้ หรือยุคสมัยใด

สิ่งที่หวังที่สุด ผ่านคำอธิษฐานสุดแผ่วเบา

คือ ให้เราเรียนรู้ที่จะ “รับฟัง”

ให้เรา “รับฟัง” ซึ่งกันและกัน ด้วยใจที่เปิดกว้างและเมตตา

เราให้ “รับฟัง” แมกไม้และสัตว์ป่า ด้วยความอัศจรรย์ใจและเคารพ

ให้เรา “รับฟัง” หัวใจของตนเอง ด้วยความรักและให้อภัย

ให้เรา “รับฟัง” พระเจ้า ด้วยความสงบและเกรงขาม

โดยผ่านทางการ “รับฟัง” นี้

ซึ่งงดงามและไร้พรมแดน

ขอให้เราพบปัญญาที่จะสามัคคี

ด้วยพระวิญญาณแห่งการรักษา ผู้มาจากเบื้องบน

ทรงนำเราไปสู่สันติ ชุมชนและการสร้างสรรค์

เราไม่ได้เรียกหาโลกที่ “สมบูรณ์”

เพียงแสวงหาโลกที่ “ดีกว่า”

ผ่านการ “รับฟัง” ที่แท้จริง

ของขวัญที่ดีที่สุด

หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่คือ ของขวัญ เป็นธรรมเนียมที่เราจะให้ของขวัญแก่คนรู้จักทั้งใกล้และไกล เรามักจะทุ่มเทเวลาไปกับการจัดเตรียมของขวัญสำหรับเพื่อนสนิท มิตรสหายที่รัก และมีความสุขในการได้รับของขวัญเช่นกัน แต่อะไรคือของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดที่เราสามารถจะได้รับ

ศาสนาจารย์ ปีเตอร์ เชาว์ ได้แบ่งปันว่า “หนึ่งในของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดที่เราสามารถได้รับคือ ความทุกข์” เราคงคิดในหัวตอนนี้ว่าการได้รับความทุกข์นั้นจะเป็นการดีได้อย่างไร อาจารย์ปีเตอร์ได้เล่าต่อว่า “เพราะความอ่อนแอและความล้มเหลวที่เราประสบนั้นเอง เราจึงสามารถเข้าใจผู้อื่นที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ลำบากในลักษณะเดียวกัน” หัวใจสำคัญของเทศกาลคริสต์มาสคือ “การถ่อมใจ” พระเจ้าได้จำกัดตนเองลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ผู้ซึ่งต้องผจญกับความทุกข์และเจ็บปวด และผ่านประสบการณ์นั้นเองพระองค์ได้ประทาน “การเห็นอกเห็นใจและการให้อภัยที่แท้จริง” แก่เรา

ในปีที่กำลังจะผ่านไป เชื่อเหลือเกินว่า เราคงได้ประสบกับความทุกข์ หรือได้รับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมและชุมชนที่อาศัยอยู่ ไม่มีใครสามารถอธิบายได้อย่างแท้จริงว่า เหตุใดสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจึงเกิดขึ้น เราทำได้เพียงแต่เลือกว่าจะตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร โดยเฉพาะต่อผู้ที่อาจจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

มีความทุกข์อะไรบ้างที่เราต้องทนไปในปีที่กำลังจะผ่านไปที่เราสามารถรับรู้ร่วมกับผู้อื่นได้ หรือมีประสบการณ์ใดบ้างที่ช่วยให้เราสามารถเข้าใจหรือให้อภัยผู้อื่นได้มากขึ้น เพราะถ้ามี ก็แสดงว่า คุณได้รับของประทานแห่ง “ความเห็นอกเห็นใจและการให้อภัย” แล้ว และก็เป็นสิทธิ์ของคุณที่จะเลือกว่าจะทำอย่างไรต่อไปดีกับของขวัญชิ้นนี้

สุขสันต์วันคริสต์มาสและสวัสดิปีใหม่ล่วงหน้า ขอให้ทุกคนมีความสุข ปลอดภัยและมีช่วงวันหยุดที่เปี่ยมความหมาย

ข้าแต่พระเจ้า

โปรดให้ข้าพระองค์เป็นเครื่องมือแห่งสันติของพระองค์

ที่ใดมีการเกลียดชัง ให้ข้าพระองค์หว่านความรัก

ที่ใดมีการบาดหมาง ให้หว่านการยกโทษ

ที่ใดมีการแตกร้าว ให้หว่านสามัคคีธรรม

ที่ใดมีการสงสัย ให้หว่านความเชื่อ

ที่ใดมีความว้าวุ่นท้อถอย ให้หว่านความหวัง

ที่ใดมีความมืดมน ให้หว่านความสว่าง

ที่ใดมีความโศกเศร้า ให้หว่านความยินดี

โอ้ข้าแต่พระอาจารย์

อย่าให้ข้าพระองค์แสวงหาการประเล้าประโลมใจ

แต่ประเล้าประโลมใจผู้อื่น

มิใช่แสวงหาความเข้าใจ แต่พยายามเข้าใจผู้อื่น

มิใช่แสวงหาความรัก แต่รักเขา

เพราะด้วยการให้ ทำให้ข้าพระองค์ได้รับ

ด้วยการยกโทษ ข้าพระองค์จึงได้รับการยกโทษ

และในความตายนั้นเอง ที่ทำให้ข้าพระองค์ได้รับชีวิตนิรันดร์

อาเมน

คำอธิษฐานของ เซนต์ฟรานซิส แห่งอาซิซี

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับหลาย ๆ คน ช่วงเดือนสุดท้ายของปี คือช่วงเวลาที่เหนื่อยที่สุด ไหนจะต้องรีบทำงานให้เสร็จ ไหนจะต้องแผนการพักผ่อนช่วงวันหยุด เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้คนมากมายต้องตกอยู่สภาวะเครียดหรือเดียวดายในช่วงเทศกาลนี้ ทั้งที่จริง ๆ หัวใจสำคัญของคริสต์มาสคือ "ชุมชน"

หากเราลองทบทวนดูว่ามีใครบ้างที่ได้รับการบอกกล่าวถึงข่าวการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์ เราจะพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้รับการบอกกล่าวถึงข่าวประเสริฐ โดยทุกคนเหล่านั้นล้วนมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเรื่องช่วงวัย สถานภาพทางสังคม ปัจจัยทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งความสัมพันธ์กับพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงมีวิธีการสื่อสารกับคนทุกกลุ่มในรูปแบบที่พวกเขาเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าฝันของทูตสวรรค์กับโยเซฟ ผู้อาจจะเป็นตัวแทนของสามัญชนทั่วไป การมาแถลงแบบซึ่งหน้าอย่างที่กาเบรียลปรากฏตัวต่อมารีย์ ผู้เปรียบเสมือนผู้ด้อยโอกาสในสังคม หรือมาเป็นรูปแบบการสรรเสริญเป็นหมู่คณะอย่างเหล่าทูตสวรรค์กับคนเลี้ยงแกะ ซึ่งคือชนชั้นแรงงานที่อยู่ชายขอบของสังคม หรือจะเป็นดาวนำทางที่ส่องสว่างจากระยะไกลให้เหล่าปัญญาจารย์ ผู้เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นปัญญาชน หรือจะมาในรูปแบบการเล่าสู่กันฟังอย่างที่เหล่าปัญญาจารย์ชี้แจงกับกษัตริย์เฮโรด ผู้อาจเป็นตัวแทนของคนบาปหรืออำนาจตามวิถีของโลกมนุษย์ หรือกระทั่งผ่านทางการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่าง สิเมโอน และอันนา ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ที่อุทิศชีวิตในการติดตามพระเจ้า

พระเจ้าไม่ได้จำกัดข่าวประเสริฐ ให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกำหนดรูปแบบการประกาศไว้เพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่ง แต่พระองค์ทรงสื่อสารกับคนทุกประเภทในสังคม ตั้งแต่คนชายขอบถึงระดับหัวกะทิ พระองค์ทรงให้โอกาสที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นคนที่ติดสนิทกับพระองค์หรือคนที่ลุ่มหลงอยู่ในกระแสของโลก

พระเจ้าไม่ทรงละทิ้งผู้ใด และคริสตจักรหรือชุมชนของพระองค์ก็ควรจะเป็นของคนทุกคนในชุมชนเช่นกัน ในสัปดาห์ที่ผ่านไป มีใครหรือกลุ่มคนใดบ้างที่เราอาจเผลอหลงลืมหรือไม่ใส่ใจบ้างหรือไม่

ด้วยความศรัทธานี้ เราจะสามารถสกัดพลอยแห่งความหวังจากภูเขาแห่งความสิ้นหวัง

ด้วยความศรัทธานี้ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงเสียงความโหวกเหวกของชุมชนให้เป็นบทเพลงไพเราะของพี่น้อง

ส่วนหนึ่งของ คำปราศรัย “ข้าพเจ้ามีความฝัน” โดย ศาสนาจารย์ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง


เสียงระฆัง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลาย ๆ ท่านอาจได้มีโอกาสชมการแสดงละครเวทีของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติของเรา โดยเด็ก ๆ ได้เล่นบทประพันธ์จำนวน 5 เรื่องของ เอดการ์ แอลลัน โพ นักเขียนชาวอเมริกัน ชื่อดัง ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวน โดยแต่ละตอนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวพออย่างยิ่ง แต่หากจะถามว่าตอนใดที่ประทับใจและน่าจดจำที่สุด ผมคงตอบว่าเป็นตอนที่ เด็ก ๆ หยิบบทกลอนของโพ เรื่อง “ระฆัง” มาเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม

บทกลอนดังกล่าวสามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบ โดยวิถีการหนี่งที่น่าสนใจคือ การให้ระฆังแต่ละประเภทที่ปรากฏในบทกลอนนั้น เป็นตัวแทนถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิต โดย “ระฆังเงิน” เป็นตัวแทนของวัยเยาว์และความสนุกสนาน “ระฆังทอง” สะท้อนถึงการโตเป็นผู้ใหญ่และความรับผิดชอบ ส่วน “ระฆังทองเหลือง” หมายถึง ความเจ็บป่วยและสูญเสีย และท้ายที่สุด “ระฆังเหล็ก” เป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย โดยแนวคิดดังกล่าวนั้นคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า “เกิด แก่ เก็บ ตาย เป็นธรรมดาของมนุษย์โลก” ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์เองก็ได้กล่าวถึง ความอนิจจังไว้ในพระธรรมปัญญาจารย์ ว่ามีเวลาสำหรับทุกสิ่งและไม่มีสิ่งใดใหม่ใต้พระอาทิตย์

ฉะนั้นข้อคิดที่เราอาจจะได้วันนี้คือ มนุษย์ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงเสียงระฆังแบบต่าง ๆ (หรือเหตุการณ์) ที่ดังขึ้นในชีวิตได้ เพราะชีวิตนั้นไม่สามารถคาดเดาได้และมักจะโยนสิ่งสารพัดถาโถมใส่เราแบบไม่ทันตั้งตัว เราจะต้องประสบกับเหตุการณ์มากมายหลายรูปแบบในชีวิต ดีบ้าง ร้ายบ้าง แตกต่างกันไป

โดยเราต้องพยายามแยกแยะเสียงของระฆังประเภทต่าง ๆ ให้ออกเพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม แต่เรามักจะทำผิดพลาดโดยการเพิกเฉยต่อเสียงเตือนหรือคิดว่ามันไม่แตกต่างกัน แท้ที่จริงแล้วหากคุณกำลังได้ยินเสียง “ระฆังสีเงิน” ก็จงยินดีและแบ่งปันความสุขนั้นกับผู้คนรอบข้าง ถ้าคุณกำลังชื่นชมเสียงของ “ระฆังสีทอง” อยู่ก็จงขอบพระคุณและทำทุกสิ่งอย่างเต็มที่ หรือหากเสียงของ “ระฆังทองแดง” กำลังกังวานอยู่ ก็จงหันมาสนใจดูแลตัวเองและผู้อื่น แต่ถ้าคุณกำลังได้ยินเสียงของ “ระฆังเหล็ก” ก็แสดงว่าถึงเวลาแห่งการสะท้อนคิดและชื่นชมชีวิต

ตอนนี้คุณกำลังได้ยินเสียงของระฆังประเภทไหนอยู่ โดยไม่ว่าจะเป็นเสียงใด ก็ขอให้ชื่นชมหรืออดทนกับมันเพราะทุกอย่างใต้พระอาทิตย์นี้ (รวมทั้งตัวเรา) ล้วนแล้วแต่อนิจจัง

มีวาระสำหรับทุกสิ่ง

มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง และมีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่างภายใต้ฟ้าสวรรค์

มีวาระให้กำเนิด และวาระตาย

มีวาระเพาะปลูก และวาระถอนสิ่งที่ปลูกทิ้ง

มีวาระฆ่า และวาระรักษาให้หาย

มีวาระรื้อทลายลง และวาระก่อสร้างขึ้น

มีวาระร้องไห้ และวาระหัวเราะ

มีวาระไว้ทุกข์ และวาระเต้นรำ

มีวาระโยนหินทิ้ง และวาระเก็บรวบรวมหิน

มีวาระสวมกอด และวาระงดเว้นการสวมกอด

มีวาระแสวงหา และวาระทำหาย

มีวาระเก็บรักษาไว้ และวาระโยนทิ้งไป

มีวาระฉีกขาด และวาระเย็บ

มีวาระนิ่งเงียบ และวาระพูด

มีวาระรัก และวาระเกลียด

มีวาระสงคราม และวาระสันติ

พระธรรมปัญญาจารย์ บทที่ 3 ข้อ 1 - 8

การชื่นชมยินดี

รูปภาพธรรมดาของผู้ชายคนหนึ่งกำลังทำอาหารแบบบ้าน ๆ

เรารู้ว่าคำอธิบายภาพด้านบนนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะว่าชายผู้ที่นั่งอยู่ในรูปคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ผู้ที่เราระลึกถึงในวันปิยมหาราช (วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี) พระองค์เป็นมหากษัตริย์ที่รักและเคารพยิ่งของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นผู้นำพาประเทศเข้าสู่ความเป็นสากล และรอดพ้นการสูญเสียเอกราช

จากรูปภาพด้านบนนั้นเกี่ยวข้องกับอาหาร จึงขอถามทุกคนว่า ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา มีอาหารมื้อใดบ้างที่รู้สึกประทับใจ เป็นอาหารจานเลิศที่ไปรับประทานในร้านอาหารชื่อดังหรือเมนูสุดเลิศที่เหล่าพ่อบ้านแม่ครัวลงมือทำเพื่อเป็นมื้อพิเศษสำหรับครอบครัว อย่างไรก็แล้วแต่เรามักจะเผลอตัวทานเพลินจนเกินพอดี กว่าจะรู้ตัวก็พุงกางลุกยากเสียแล้ว แต่เคยนึกสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมอาหารในโอกาสพิเศษอย่างช่วงวันหยุดจึงมีรสชาติอร่อยกว่ามื้อแสนธรรมดาประจำวัน ทำไมข้าวร้านป้าหน้าซอยกับสลัดที่โรงอาหารจึงไม่อร่อยอย่างนั้นบ้าง

อาจเป็นเพราะคนเรามันจะเอาความรู้สึกไปผูกไว้กับ “โอกาสพิเศษ” จนลืมที่จะชื่นชม “ของประทาน” ที่เราได้รับตลอดในชีวิตประจำวัน โดยเรามักจะต้องรอให้สิ่งเหล่านั้นหายไปก่อนจึงจะรู้ค่า ยกตัวอย่าง เมื่อหลายปีก่อนผมป่วยเป็น “โรคเบลพาซี่” หรือโรคปลายประสาทอักเสบ ทำให้หน้าครึ่งซีกขวาเบี้ยวลง ไม่สามารถหลับตาให้สนิทได้ ทำให้ไม่สามารถอ่านหนังสือเป็นระยะเวลานาน ๆ และแสบตาอย่างมากทุกครั้งที่สระผม เพราะน้ำยาจะไหลเข้าตาตลอด อีกทั้งปากก็เบี้ยวทำให้ทุกครั้งที่ดื่มน้ำ น้ำไหลออกจากปาก ทานอะไรก็รู้สึกเผ็ดร้อนไปหมด จะไปเดินเที่ยวห้างหรือที่ชุมนุมชนก็ไม่ไหว เพราะหูไวต่อเสียงกว่าปกติ ทุกอย่างจึงเหมือนเสียงดังไปหมด ต้องทานยา ฝั่งเข็ม กว่าร่างกายจะเริ่มฟื้นตัวได้ก็เป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือน ผมยังจำวันที่ทานก๋วยเตี๋ยวแล้วน้ำไม่หกออกจากปากได้ แม้อาจฟังเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับผมในตอนนั้นมันเป็นความสุขที่เกินบรรยายได้

จากภาพด้านบน หากมองผิวเผินแล้ว ทุกอย่างดูธรรมดา แต่หากมองอย่างเข้าใจแล้ว ทุกอย่างในภาพล้วนมีความพิเศษ บางทีเคล็ดลับของความสุขแท้อาจจะเป็นความสามารถที่จะ “การชื่นชมยินดี” ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราได้รับมาในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่การงาน รายได้ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท คู่ครอง ครอบครัว หรือความสามารถที่จะผิวปาก ร้องเพลง ปรุงอาหาร ทำงาน อ่านหนังสือ ชิมอาหาร หัวเราะ หรือการที่สามารถลุกขึ้นจากเตียงนอนในทุก ๆ เช้า และที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนมักจะลืม คือ การการชื่นชม “ตนเอง” เพราะชีวิตของเราก็เป็นของประทานจากพระเจ้า

จงชื่นบานอยู่เสมอ จงอธิษฐานอย่างสม่ำเสมอ จงขอบพระคุณในทุกกรณี เพราะนี่แหละเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า สำหรับพวกท่านในพระเยซูคริสต์

1 เธสะโลนิกา 16 - 18

โปรดอย่ารีบร้อน

รัฐบาลไทยประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันหยุดเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสที่จะระลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านเคยทำให้ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสให้เราทุกคนได้ใคร่ครวญว่า ตนเองสามารถทำอะไรเพื่อชุมชนและสังคมได้บ้าง และแม้ว่าจะเวลาจะล่วงเลยไปเกือบ 3 ปี แล้ว แต่สำหรับคนไทยหลายคน ความรู้สึกสูญเสียและโศกเศร้ายังคงอยู่ ความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ ไม่มีใครสามารถหลีกพ้นได้

การสูญเสีย หมายถึง จุดจบ การพลัดพลาก ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปกับใครสักคน (หรือสิ่งของสักอย่าง) ซึ่งเรามีความพูกพันด้วย

ความโศกเศร้า หมายถึง การตอบสนองของร่างกาย ความคิด และอารมร์ต่อการสูญเสีย พลัดพราก และการเปลี่ยนแปลง

ทั้งความสูญเสียและความโศกเศร้าเป็นส่วนประกอบของชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ “การเติบโต” ไม่ได้วัดที่ความสามารถในการหลบหลีกความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ อย่างที่ สโตรชา และโรบินสัน สองนักจิตวิทยา กล่าวไว้ว่า “โรคซึมเศร้า คือผลของการละทิ้งการมีส่วนในชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สึกสามารถควบคุม เหนืออารมณ์ ความคิดและความทรงจำที่หดหู่” ฉะนั้นการปฏิเสธความสูญเสียและโศกเศร้าของตนเองมีแต่จะให้ทุกสิ่งเลวร้ายลง เคล็ดลับสำคัญในการเติบโตที่แท้จริง คือ การรู้วิธีรับมือกับความทุกข์ ทั้งในระดับส่วนตัว ครอบครัวและชุมชนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การคร่ำครวญ”

ซึ่งกระบวนการ “คร่ำครวญ” นั้นไม่มีสูตรตายตัว เราไม่รู้ว่าตนเองอาจต้องอยู่ในกระบวนการนานเท่าไร หรือย้อนกลับไปกลับมากี่รอบ เรารู้เพียงว่าเราต้อง “ใจเย็น” โดยการให้เวลากับตัวเองในการทบทวนถึงช่วงเวลาอันมีค่าด้วยกัน สำรวจหลุมลึกในใจอันเกิดจากการสูญเสียนั้น และใคร่ครวญว่าเขามีค่ากับเราอย่างไรบ้าง แล้วอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ ย้ายเขาไปไว้ในความทรงจำซึ่งจะอยู่กับเราตลอดไป

ฉะนั้นในสัปดาห์นี้ หากคุณกำลังเผชิญกับการสูญเสียหรือโศกเศร้าที่อาจเข้ามาในรูปแบบของ การคิดถึงบ้าน ความวิตกกังวลหรือความผิดหวัง โปรด “ใจเย็น” กับตนเอง และให้เวลาตัวเองได้คร่ำครวญบ้าง

บทภาวนา

เมื่อต้องเดินเคียงข้างกับความโศก

โปรดอย่ารีบร้อน เมื่อต้องเดินเคียงข้างกับความโศก

เพราะการเร่งรีบไม่ช่วยอะไร

โปรดอย่ารีบร้อน เมื่อต้องเดินเคียงข้างกับความโศก

อย่ากังวลหากความทรงจำอันปวดร้าวมาเยือน

โปรดไวที่จะอภัย

และให้พระเจ้ากล่าวคำที่ไม่เคยได้เอย

แทนท่าน

ให้พระองค์คลี่คลายบทสนทนาที่ไม่มีวันจบลง

โปรดอย่ากังวล

โปรดอ่อนโยนกับผู้ที่กำลังเดินเคียงข้างกับความโศก

หากเป็นท่าน

โปรดอ่อนโยนกับตัวเอง

โปรดไวที่จะอภัย

ช้าที่จะก้าวเดิน

ค่อย ๆ พักไป

ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ นะ

อนันดา รู้สึกเหมือนฟ้าผ่าที่กลางอกเมื่อคุณครูยื่นการบ้านที่ตรวจแล้วให้อ่าน ทำไมเขาถึงได้คะแนนแค่ บีบวก ทั้งที่เขาพยายามทุ่มเททำรายงานฉบับนี้อย่างเต็มกำลังแบบหามรุ่งหามค่ำ เพราะเขารู้สึกสนใจในวิชานี้และชอบคุณครูที่มักมอบมุมมองใหม่ ๆ กับเขาเสมอ แต่ทำไมเขาถึงได้รับการตอบแทนด้วยเกรดเพียงเท่านี้ เมื่อระฆังเลิกเรียนดังขึ้น อนันดาพยายามรีบลุกเพื่อที่ออกจากห้องให้ได้ไวที่สุด แต่คุณครูกลับรั้งตัวเขาไว้ แถมยังบอกว่า เข้าใจความรู้สึกของเขานะ แต่เขายังต้องปรับปรุงผลงานอยู่ เขาเก็บน้ำตาไม่อยู่จริง ๆ ในวินาทีที่เงยหน้าขึ้นมองคุณครู เขาไม่สามารถเอ่ยคำใด ๆ ได้เลย

การรับรู้ “คุณค่าของตน” ได้รับการกล่าวถึงมาสักพักแล้ว แต่การที่จะเข้าใจในสิ่งนั้นจริง ๆ เป็นเรื่องยากหากเรามองมาจากคนละมุม

ปลายเชือกสองฝั่ง

ที่โรงเรียนนานาชาติฯ ของเรา ครูใหญ่แอรอน มักจะเน้นย้ำถึงหลักการ “เรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม” Social and Emotional Learning (SEL) โดยบทความนี้จะขอให้เราสำรวจในส่วนของ “การรับรู้ตนเอง” และ “การรับรู้สังคม” ซึ่งทั้งคู่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนการประเมิน “คุณค่าของตนเอง”

ในกรณีของอนันดา เขารู้สึกว่าตนเอง “ไม่เป็นที่รัก” แม้ว่าเขาจะพยายามทำรายงานแทบตายและกล้าที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ แต่คุณครูกลับปฎิเสธความทุ่มเทนั้น ในขณะที่คุณครูพยายามเข้ามาพูดด้วยในหัวของเขาเต็มไปด้วยภาพของ ท่าทางดูถูก เย้ยหยันของญาติที่เรียนชั้นเดียวกัน เธอได้เอไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้พยายามอะไรเลย แล้วเขาจะต้องทนพ่อพร่ำบ่นเรื่องความพยายามอีกไม่รู้กี่ชั่วโมง เขารู้สึกอับอายและนึกโกรธตัวเองที่น่าจะลอกไอเดียจากบทความที่เจอบนอินเตอร์เน็ตเมื่อวานให้รู้แล้วรู้รอดไป แต่ในมุมองของครูผู้สอน เธอชื่นชมในความทุ่มเทและความกล้านำเสนอไอเดียของอนันดามาก เพียงแต่มีความผิดพลาดทางไวยกรณ์เยอะไปหน่อย เธออยากให้กำลังใจลูกศิษย์โดยการบอกว่ายังมีช่องทางในการพัฒนาผลงานได้อีก เธอคิดว่าอนันดาควรจะภาคภูมิใจในผลงานและความทุ่มเทของตนเอง แต่การตอบสนองของเขาทำให้เธอประหลาดใจมาก

การรับรู้ตนเอง และ การรับรู้สังคมนั้น เหมือนปลายเชือกคนละด้านของ “คุณค่าของตนเอง” เราจะเห็นว่าตนมีค่าแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่ว่าเราถือใกล้ปลายเชือกด้านไหนมากกว่ากัน

ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรกับตนเอง

การเห็นคุณค่าของตนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายเช่น วัฒนธรรม การเลี้ยงดูตอนเด็ก หรือประสบการณ์ตอนโต โดยทั่วไปคนเอเชียมักมีแนวโน้มที่จะประเมินคุณค่าของตนผ่านความคิดเห็นของผู้คนรอบข้างในสังคม สำหรับคนจากประเทศตะวันตกมักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนเองรู้สึก ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้น หากเราลืมที่จะเข้าใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งประเมินคุณค่าของตนเองอย่างไร

ลองประเมินตนเอง

เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะประเมินการรับรู้คุณค่าของตน เป็นระยะ ๆ ในสังคมปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์ เรามักประเมินคุณค่าของตนเองจาก ยอดไลค์ จำนวนผู้ติดตาม หรือคอมเมนต์จากผู้อื่น จนหลงลืม ค่านิยม หรือสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของเราจริง ๆ

ฉะนั้นสิ้นสัปดาห์นี้ ขอเชิญชวนให้ทุกท่านมีโอกาสใคร่ครวญว่า มีสิ่งใดบ้างที่มีสะท้อนถึงคุณค่าของตัวเราเองอย่างแท้จริง แล้วเรายังยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นอยู่หรือไม่ และมีสิ่งใดบ้างที่เราคิดว่าไม่ควรจะลดความสำคัญหรือปล่อยไป

และเมื่อได้ลองพิจารณาตนเองแล้ว หนุนใจให้ลองใคร่ครวญว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีใครที่ทำให้เรารู้สึกโกรธหรือไม่สบายใจหรือไม่แล้วเพราะอะไรเราจึงโกรธ เป็นเพราะการกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกมีค่าของตนเองหรือไม่ และในทางกลับกันเราได้ทำอะไรที่ไปทำร้ายความรู้สึกมีคุณค่าของคนอื่นหรือไม่

จงรักกันฉันพี่น้อง จงขวนขวายในการให้เกียรติกันและกัน

- โรม 12:10

อาจารย์เปาโลได้ย้ำเตือนให้เรารักและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งในการจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องเข้าใจว่าตัวเราเองให้ “คุณค่า หรือเกียรติ” ตนเองอย่างไร แล้วจึงพยายาม “ขวนขวาย” ที่จะเข้าใจว่าผู้อื่นรับรู้เกียรติของตนเช่นไร

มวยไทย - ศาสตร์แห่งความเคารพ

เดือนกันยายน เป็นช่วงเวลาของปีที่เหล่าแฟนกีฬารอคอย เพราะมีกีฬามากมายให้ชมให้เชียร์ ไม่ว่าจะเป็นพรีเมียร์ลีคของอังกฤษ อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล หรือฟุตบอลและวอลเลย์บอลทีมชาติไทย เราสามารถเลือกติดตามกีฬาได้ตามใจชอบ แต่หากถามว่า อะไรคือกีฬาประจำชาติไทย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่า “มวยไทย”

มวยไทยและศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประดัลเสรี ของกัมพูชา มวยลาว ของลาว โตมอย ของมาเลเซีย ล้วนมีรากฐานมาจากศิลปะการต่อสู้จากอินเดียที่ใช้ "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วย 2 หมัด, 2 ศอก, 2 เข่า และ 2เท้า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มวยไทย ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ ชายหญิงจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมายังไทยเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนมวยไทยที่แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะดูดุดันก้าวร้าว แต่ในความเป็นจริงแล้วตั้งอยู่บนรากฐานของ “การเคารพ” ซึ่งแสดงผ่านทางการ “รำไหว้ครู” ที่นอกจากจะเป็นเวลาแสดงความเคารพต่อผู้ประสาทวิชาแล้ว ยังเป็นโอกาสดูเชิงคู่ต่อสู้ และเตรียมจิตใจสำหรับอันตรายที่กำลังจะเผชิญ โดยมงคลและประเจียด อันเป็นเครื่องรางป้องกันที่ส่วมใส่ในระหว่างรำนั้น ในสมัยโบราณจะทำจากหรือบรรจุของต่างหน้าจากบุคคลที่เคารพรัก เช่น ชายผ้าถุงของแม่ หรือชานหมากของพ่อ

และเนื่องจากความเคารพต่ออันตรายนี้เอง มวยไทยจึงเริ่มต้นจากการป้องกัน “เหยาะ ย่าง ยัก เยื้อง” “ป้อง ปัด ปิด เปิด” “ล้ม ลุก คลุก คลาน” แล้วค่อยจับจังหวะโจมตีเพื่อพิชิตศึก “ทุ่ม ทับ จับ หัก”

แต่ในเกมส์ชีวิต เรามักจะครุ่นคิดถึงเรื่องความ “ก้าวหน้า” ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน สำหรับหลาย ๆ คน ชีวิตคือ การบรรลุเป้าหมายหนึ่ง ๆ ในเวลาอันควร เช่น อายุเท่าไรควรแต่งงาน ทำงานไปกี่ปีจึงได้ขึ้นตำแหน่ง หรือต้องผ่อนรถให้หมดภายในกี่ปี เราคิดไปข้างหน้าเสมอ จนลืมว่า ในการก้าวเดินนั้นต้องมีขาข้างหนึ่งปักหลักด้านหลังเสมอ

การใช้ชีวิตอย่างถูกต้องก็เหมือนกับการต่อยมวยไทย นั้นคือ “การรู้จังหวะ” ว่าเมื่อไรควรรับหรือรุก พูดหรือฟัง ถามหรือแนะนำ พักหรือทำงาน โดยการที่จะจับจังหวะให้ถูกต้องนั้น เราจำเป็นต้องให้ “ความเคารพ” คู่ต่อสู้ ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของความท้าทายในความสัมพันธ์ การงาน หรือสุขภาพ เราต้องไม่ประมาทและยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาและทำร้ายเราได้ และเรายังต้องให้ความเคารพตนเอง ที่ไม่เพียงรับรู้ในความสามารถ แต่ต้องยอมรับจุดด้อยและความจำกัดของตนเช่นกัน ซึ่งหากเราไม่ให้ความเคารพที่พอเพียงกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราก็มีสิทธิโดนน๊อคได้

“จงรักกันฉันพี่น้อง ส่วนการที่ให้เกียรติแก่กันและกันนั้น

จงถือว่าผู้อื่นดีกว่าตัว” - พระธรรมโรม บทที่ 12 ข้อที่ 10

อาจารย์เปาโลได้เน้นย้ำให้คริสเตียนที่กรุงโรม รักซึ่งกันและกันและ “ให้เกียรติ” แก่กันและกัน ซึ่งคำว่า “ให้เกียรติ” ในที่นี้สามารถตีความได้สองมุมมองคือ การให้อีกคนก้าวนำหน้า หรือการที่ถอยตัวเองเพื่อตาม

ในตอนนี้เราได้ก้าวย่างเข้าสู่เดือนที่สองของการเรียนการสอนแล้ว ขอเชิญชวนให้เราได้มีโอกาสสำรวจตนเองว่า เรากำลังประเมินตนเองและสถานการณ์รอบตัวด้วยความเคารพหรือไม่ เรากำลังผลักไสผู้อื่นเพราะความถือตัว ฝืนตนเองเพราะความเย่อหยิง หรือหลีกเลี่ยงเพราะขาดความมั่นใจหรือไม่

ขอพระเจ้าปันพรแก่ทุกท่าน เพื่อให้ท่านสามารถเป็นพระพรแก่ผู้อื่นต่อไป

เข้าพรรษา ช่วงเวลาแห่งการพัก

วันเข้าพรรษาในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมไปถึงกลางเดือนตุลาคมของทุกปี มีเหตุผลมากมายที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต้องประจำอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนของฤดูฝน เช่น เพื่อป้องกันตัวภิกษุจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากพักแรมกลางป่า เช่น สัตว์มีพิษ แมลงกัดต่อย จนกระทั้ง น้ำป่าหรือดินถล่ม หรือในทางกลับกันก็เพื่อป้องกันต้นข้าวของชาวนาจากการโดนย่ำระหว่างการเดินธุดงค์ แต่เหตุผลสำคัญเบื้องหลังการเข้าพรรษา คือ การให้โอกาสเหล่าภิกษุได้พัก พบป่ะ และแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ชาวพุทธสามารถเข้าวัดสดับธรรมจากเหล่าภิกษุ

รัฐบาลไทยเอง ได้ส่งเสริมให้ประชาชน “งดเหล้า เข้าพรรษา” ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว การเข้าพรรษาในอีกนัยยะหนึ่งจึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ละเลิกจากอบายมุข ฟื้นฟูวินัยและสร้างเสริมพฤติกรรมเชิงบวก

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงอุทานในใจว่า “ฉันจะเอาเวลาไหนมาพักผ่อน เวลาหายใจยังแทบจะไม่มีเลย” เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นของภาคการเรียน เราอาจรู้สึกเหนื่อยล้าจากภาระงานที่ถาโถมเข้าใส่ หน้าที่ใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ห้องทำงานใหม่ สนามเด็กเล่นใหม่ รหัสผ่านประตูใหม่ ฯลฯ

ทุกท่านได้มีเวลาที่จะ “หยุดนิ่ง” บ้างหรือไม่ วินัยอย่างหนึ่งที่เรามักจะพร่องไปโดยไม่รู้ตัวคือ วินัยในการ “พักผ่อน” อาจเป็นเพราะค่านิยมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ทำให้หลายคน “ลืม” วิธีการผ่อนคลายของตนเอง เรามักเร่งรีบในการทำงาน เข้าสังคม หรือร่วมกิจกรรมอื่น ๆ มากมาย จนไม่ได้ให้เวลากับร่างกายและจิตใจที่จะฟื้นฟูตัวเอง ทำให้ผู้คนมากมายตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือหมดไฟ

“แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “มาเถิด จงปลีกตัวออกมาหาที่สงบเพื่อหยุดพักสักหน่อยหนึ่ง” เพราะว่ามีคนไปมามากมายจนไม่มีเวลาแม้แต่จะรับประทานอาหาร” มาระโก บทที่ 6 ข้อ 31

พระเจ้าอยากให้เราจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อน พระองค์ได้ตั้งให้หนึ่งวันในสัปดาห์เป็นวันสะบาโต เพื่อที่เราได้มีโอกาสพักร่างกายและใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ดังที่พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นในพระคัมภีร์หลายตอน เช่น ในพระธรรมด้านบนที่พระองค์ทรงเรียกให้เหล่าสาวกหยุดทำงานแล้วมาพักทานข้าว

ดังนั้นจึงขอหนุนใจให้ทุกคนได้มีโอกาสพักผ่อนร่างกายและสงบจิตใจในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ และถ้าหากหลงลืมไปแล้วว่า ตนเองมีวิธีการพักผ่อนอย่างไร ก็ขอเชิญชวนให้เริ่มจากการนอนมองดูหยดน้ำฝนที่ไหลลงที่หน้าต่างหรือก้อนเฆขที่ล่องลอยผ่านไปบนท้องฟ้าสีคราม

ความยินดีในการเดินทาง: เลือกที่จะยินดี

คุณกำลังเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคอะไรในตอนนี้? สถานการณ์ของคุณมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของคุณมากแค่ไหน?

อ่าน ฟิลิปปี 4:4-7

“จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่าจงชื่นชมยินดีเถิด จงให้ความอ่อนสุภาพของท่านทั้งหลายประจักษ์แก่ทุกคน องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ใกล้แล้ว อย่ากระวนกระวายในสิ่งใดๆ เลย แต่จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบทุกสิ่งที่พวกท่านขอ โดยการอธิษฐานและการวิงวอน พร้อมกับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขของพระเจ้าที่เกินความเข้าใจ จะคุ้มครองจิตใจและความคิดของท่านทั้งหลายไว้ในพระเยซูคริสต์”

*****

ถ้อยคำจากพระคำตอนนี้มีค่ามากที่เราจะสามารถเรียนรู้และจำจนขึ้นใจ อ.เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้จากในคุกซึ่งเขารู้ว่าในที่สุดเขาอาจถูกประหารชีวิต อ.เปาโลได้มอบถ้อยคำอันทรงพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา:

“ จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา!”

จะเป็นไปได้อย่างไร? หากคุณหรือฉันกำลังเสียใจอยู่กับบางสิ่ง เศร้าโศกและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ความเจ็บป่วย หรือความซึมเศร้า? เราจะทำให้ตัวเองมีความสุขได้อย่างไร แน่นอนเราไม่สามารถทำได้; แต่เราสามารถเลือกที่จะชื่นชมยินดี

ความชื่นชมยินดีในพระเจ้าเริ่มต้นเมื่อเรารู้ว่าเราทำทุกสิ่งด้วยความตั้งใจมากกว่าทำตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นการเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า พระเจ้าคือใครในชีวิตของเราและทบทวนถึงสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ: พระองค์ทรงครอบครองอยู่เหนืออำนาจทุกสิ่ง ผู้ที่รักเราด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ ความรักนิรันดร์ที่ไม่มีวันหมดรักได้ ผู้ที่อยู่กับเราและสัญญาว่าจะไม่ทิ้งเรา ผู้ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ผู้ที่สามารถป้องกันไม่ให้เราล้มลง….

“ชั่วชีวิตของฉันในทุกๆฤดูกาล

พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า

ฉันมีเหตุผลที่จะร้องเพลง

ฉันมีเหตุผลที่จะนมัสการพระองค์”

เพลง ทะเลทรายโดย Hillsong United

ความชื่นชมยินดียกใจและตาของเราออกจากตัวเราเอง เปลี่ยนมุมมองของเราไปที่ผู้ที่รู้และใส่ใจเราอย่างแท้จริง ทำให้พระเจ้าอยู่ในจุดที่พระองค์สมควรอยู่ในชีวิตของเราอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับเด็กเล็กๆที่ต้องปล่อยมือจากสิ่งที่อยู่ในมือเขาเพื่อรับเอาสิ่งที่เราเสนอพวกเขา เช่นกันเราจำเป็นต้องปล่อยความกลัวและความวิตกกังวลเพื่อที่จะสามารถชื่นชมยินดี เมื่อเราให้ความกังวลความกลัวความต้องการและความปรารถนาต่อพระเจ้า และเริ่มที่จะขอบคุณและสรรเสริญพระองค์สำหรับพระลักษณะของพระองค์ และสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อเราแล้ว หัวใจของเราจะมีพื้นที่สำหรับสันติสุขและความสุขใจ แม้ในสถานการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้มากที่สุด

คุณจะเลือกที่จะชื่นชมยินดีในวันนี้หรือไม่?

ตอบสนอง:

  • ฟังเพลงผู้รอคอย: https://www.youtube.com/watch?v=RB6bFyMKPkI

  • มีสิ่งใดที่คุณยังคงกลัวหรือวิตกกังวลซึ่งคุณควรจะวางลงกับพระเจ้าในวันนี้?

  • ขอให้คุณคิดถึงความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าที่สามารถทำให้คุณขอบคุณพระองค์และชื่นชมยินดีในวันนี้?

ความยินดีในการเดินทาง: เป้าหมาย

คุณได้ตั้งเป้าหมายอะไรในปีการศึกษาที่ผ่านมานี้ คุณประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้มากน้อยแค่ไหน

อ่าน ฟิลิปปี 3:7-14

“7แต่ว่าสิ่งใดที่เคยเป็นคุณประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์แล้ว เพื่อเห็นแก่พระคริสต์ 8ที่จริงข้าพเจ้าถือว่าสิ่งสารพัดไร้ประโยชน์ เพราะเห็นแก่ความประเสริฐแห่งความรู้ถึงพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า เพราะเหตุพระองค์ ข้าพเจ้าจึงได้ยอมสละสิ่งสารพัด และถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนหยากเยื่อเพื่อข้าพเจ้าจะได้พระคริสต์ 9และจะได้ปรากฏอยู่ในพระองค์ ไม่มีความชอบธรรมของข้าพเจ้าเอง ซึ่งได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นความชอบธรรมซึ่งมาจากพระเจ้าซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ 10ข้าพเจ้าต้องการจะรู้จักพระองค์ และได้รับประสบการณ์ในฤทธิ์เดช เนื่องในการที่พระองค์ทรงคืนพระชนม์นั้น และร่วมทุกข์กับพระองค์ คือยอมตั้งอารมณ์ตายเหมือนพระองค์ 11ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นขึ้นมาจากความตายด้วย

12มิใช่ว่าข้าพเจ้าได้แล้ว หรือสำเร็จแล้ว แต่ข้าพเจ้ากำลังบากบั่นมุ่งไป เพื่อข้าพเจ้าจะได้ฉวยเอาไว้เป็นของตน อย่างที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงฉวยข้าพเจ้าไว้เป็นของพระองค์แล้ว 13ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ถือว่าข้าพเจ้าได้ฉวยไว้ได้แล้ว แต่ข้าพเจ้าทำอย่างหนึ่ง คือลืมสิ่งที่ผ่านพ้นมาแล้วเสีย และโน้มตัวออกไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า”

*****

มีคำกล่าวว่า “หากคุณตั้งเป้าหมายไปที่ความว่างเปล่า คุณก็สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ทุกครั้ง” ความคิดนี้แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา เป้าหมายทำให้เราปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเราเอง และยังทำให้เรามุ่งมองไปที่สิ่งสำคัญจริงๆในชีวิตของเรา

ในช่วงเวลานี้ของปีการศึกษา เป็นช่วงที่เรามีการทบทวนเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้: ยินดีกับงานที่บรรลุวัตถุประสงค์เป็นที่เรียบร้อย เอาจริงเอาจังกับงานที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง และแก้ไขงานที่ไม่สามารถทำหรือเป็นไปได้ เป้าหมายที่ยังไม่ประสบความสำเร็จหรือเป้าที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้สักทีนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เราเติบโต ถ้าเรามุ่งมองไปข้างหน้าว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป หากคุณมองข้างหลังตลอดเวลาในขณะที่คุณกำลังวิ่งแข่งนั้นคุณก็ไม่สามารถมุ่งไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้! เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจำเป็นที่จะต้องปล่อยวางอดีต: นี่หมายรวมถึงทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

สำหรับผู้ติดตามพระเยซูมีเป้าหมายเดียวที่สำคัญยิ่งกว่าเป้าหมายอื่นใดทั้งหมด สิ่งเดียวที่มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพราะเป้าหมายนี้ไม่ได้มีผลเฉพาะชีวิตของเราบนโลกนี้เท่านั้น แต่มีผลต่อชีวิตนิรันดร์ของเรา อ.เปาโล เห็นว่าสิ่งนี้มีค่ามากจนสามารถนับสิ่งดีอื่นๆว่าเป็น “ขยะ” เลยทีเดียว เป้าหมายนี้คืออะไร? นั่นคือการรู้จักพระคริสต์ ไม่ได้หมายความว่าให้มีความรู้มากมายเกี่ยวกับพระองค์ แต่หมายถึงการรู้จักพระองค์ผ่านความเชื่อ - พระเยซูผู้ประทับบนสวรรค์ทรงเรียกเรา อ.เปาโล ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความหมายของการสิ้นพระชนม์กับพระคริสต์ และการเป็นขึ้นจากความตายพร้อมกับพระองค์ รวมถึงการถูกครอบครองชีวิตด้วยความชอบธรรมของพระองค์

ไม่แน่ใจว่ามีใครในพวกเราที่มีความปรารถนาอันแรงกล้าเหมือน อ.เปาโลหรือไม่ หากอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ยังไม่ได้บรรลุเป้าหมายนี้ เราจะสามารถทำได้หรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้นี้ไม่สามารถทำได้เต็มที่ในชีวิต ณ ตอนนี้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือการที่เราจะก้าวไปข้างหน้า และตระหนักรู้ว่าตราบจนนิรันดร์พระเยซูทรงฉวยเราทั้งหลายไว้ (ข้อ 12) พระองค์กำลังวิ่งไปกับเรา เสริมกำลังเรา เมื่อเราคิดว่าเราไม่สามารถจะก้าวไปอีกก้าวหนึ่งได้ พระองค์ก็ยังทรงสถิตกับเราและทรงกระทำทุกสิ่งเพื่อเรา ดังนั้นขอให้เราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไปสู่เป้าหมายนี้กับพระองค์

ขอให้เราละทิ้งทุกอย่างที่ถ่วงอยู่ และบาปที่เกาะแน่น ขอให้เรายังคงวิ่งแข่งด้วยความทรหดอดทน

ในการแข่งขันที่อยู่ข้างหน้าเรา โดยจับตามองที่พระเยซูผู้เบิกทางความเชื่อ

และผู้ทรงทำให้ความเชื่อนั้นสมบูรณ์” ฮีบรู 12:1-2

ตอบสนอง:

  • ขอให้เราฟังเพลง: ชีวิตที่เริ่มใหม่

  • เป้าหมายของคุณตอนนี้คืออะไร ขอใช้เวลานี้ในการอธิษฐานขอพระเจ้าเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นมุมมองหรือลำดับความสำคัญที่อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน

  • คุณปรารถนาที่จะรู้จักพระเยซูมากขึ้นหรือไม่ ขอให้คุณอธิษฐานกับพระองค์สำหรับคำตอบนี้อย่างจริงใจ

ความยินดีในการเดินทาง: ความสามัคคีผ่านความถ่อมใจ

อ่าน ฟิลิปปี 2:1-8

“เพราะฉะนั้น ในเมื่อมีความชูใจในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ มีการปลอบโยนจากความรัก มีการสามัคคีธรรมกันจากพระวิญญาณ และมีความเห็นใจกันและความเมตตากรุณา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทำให้ความยินดีของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยม ด้วยการมีความคิดอย่างเดียวกัน มีความรักอย่างเดียวกัน มีจิตใจและความคิดเป็นหนึ่งเดียวกัน อย่าทำสิ่งใดด้วยการชิงดีหรือถือดี แต่จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย

จงมีจิตใจเช่นนี้ในพวกท่านเหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์

ผู้ทรงสภาพเป็นพระเจ้า ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้

แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส

ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์

พระองค์ทรงถ่อมตัวลง ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา กระทั่งมรณาบนกางเขน”

*****

CMIS เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงดีในเรื่องความสามัคคีแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ บุคลากร นักเรียนและผู้ปกครองที่มาอยู่ร่วมกันจากหลายประเทศ หลากหลายวัฒนธรรม และภูมิหลังที่ต่างกัน แต่ความตั้งใจและโลกทัศน์ของแต่ละคนนั้นมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การศึกษาและการช่วยกันดูแลเอาใจใส่นักเรียนของเรา

ความหลากหลายสามารถกลายเป็นความท้าทาย ทั้งความเข้าใจผิดข้ามวัฒนธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและเป้าหมายอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมุมองและวิสัยทัศน์ของแต่ละคน แต่ความหลากหลายนั้นไม่ได้หมายถึงจะต้องเกิดความแตกแยกเสมอไป มีความเป็นไปได้ที่เราจะไม่เห็นด้วยโดยไม่ขัดแย้งหรือแตกแยกกัน บางทีสาเหตุที่แท้จริงของการแตกแยกนั้นเกิดขึ้นตามที่ปรากฏในพระธรรมข้อ 3 กล่าวว่า

อย่าทำสิ่งใดด้วยการชิงดีหรือถือดี แต่จงถือว่าคนอื่นดีกว่าตัวด้วยใจถ่อม

อย่าให้ต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง แต่จงเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นๆ ด้วย

การที่ฉันสามารถจัดการหรือทำสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบของฉัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับฉัน

ในท่ามกลางสาวกของพระเยซู การแตกแยกประเภทนี้มีความร้ายแรง และแสดงถึงการไม่ได้ทำตามแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกถึงความถ่อมใจ - พระเยซูพระองค์ทรงวางต้นแบบไว้ พระองค์มิได้ทรงถ่อมพระองค์ลงในความจำกัดของร่างกายมนุษย์เท่านั้น แต่ยังทรงรับบทบาทของผู้รับใช้ด้วย พระองค์เสด็จมาเพื่อรับใช้ผู้ที่ปฏิเสธพระองค์ - คนอย่างคุณและฉัน - ทรงยอมแม้กระทั่งวางชีวิตของพระองค์และสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่โทษหนี้บาปแทนเรา

และเพราะพระเยซูทรงถ่อมพระองค์ลง เราจึงสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา และเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนร่วมความเชื่อในความจริงนี้ได้ การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันใน“ ร่างกายหรือพระกายของพระคริสต์” มีความสำคัญต่อพระองค์มาก พระเยซูอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน (ยอห์น 17) และพระองค์ทรงมอบทุกสิ่งที่พระองค์มีให้กับเราเพื่อให้ความจริงนี้ปรากฏในชีวิตของเรา

“เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังเช่นพระองค์ผู้เป็นพระบิดาสถิตในข้าพระองค์

และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในพระองค์และในข้าพระองค์ด้วย

เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา” ยอห์น 17:21

Reflect:

  • ความแตกแยกในหมู่ผู้เชื่อส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เชื่ออย่างไร?

  • ในสถานการณ์ใดที่คุณพบว่ายากที่สุดที่จะให้ผลประโยชน์ของคนอื่นๆมีความสำคัญมากกว่าความต้องการของคุณเอง?

  • คุณตอบสนองอย่างไรเมื่อได้พิจารณาถึงความถ่อมใจของพระเยซูและการที่พระองค์ยอมสละเพื่อให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

ความยินดีในการเดินทาง: แรงบันดาลใจจากความรัก

อ่าน ฟิลิปปี 1:8-11

“8เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นพยานให้ข้าพเจ้าได้ว่า ข้าพเจ้าคิดถึงท่านทุกคนเพียงไรตามพระทัยสงสารของพระเยซูคริสต์ 9และข้าพเจ้าอธิษฐานว่าขอให้ความรักของท่านทวียิ่งๆ ขึ้นพร้อมกับความรู้และวิจารณญาณทุกด้าน 10เพื่อท่านทั้งหลายจะสังเกตเห็นได้ว่าสิ่งใดประเสริฐที่สุด เพื่อท่านจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ เป็นคนไม่มีที่ติได้ในวันแห่งพระคริสต์ 11และเป็นคนที่เต็มบริบูรณ์ด้วยผลของความชอบธรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยทางพระเยซูคริสต์ เพื่อถวายพระเกียรติและการยกย่องแด่พระเจ้า”

*****

นี่เป็นช่วงเวลาของปีที่อากาศร้อนบั่นทอนพลังงานของเรา เราเริ่มมองเห็นสิ้นปีการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักเรียนและบุคลากรในการรักษาแรงจูงใจที่จำเป็นต้องมีในการสานต่องานต่างๆเพื่อให้งานนั้นๆประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในช่วงสองสามสัปดาห์สุดท้ายนี้

แรงจูงใจอาจเป็นปัญหาในชีวิตคริสเตียนเช่นกัน เป้าหมายของเราจากข้อ 10-11 กล่าวว่า

“ .. เพื่อท่านจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ เป็นคนไม่มีที่ติได้ในวันแห่งพระคริสต์ 11และเป็นคนที่เต็มบริบูรณ์ด้วยผลของความชอบธรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยทางพระเยซูคริสต์ เพื่อถวายพระเกียรติและการยกย่องแด่พระเจ้า

เราจะรักษาแรงบันดาลใจเพื่อไปถึงเป้าหมายสูงเช่นนี้ได้อย่างไร?

บางทีเราอาจเริ่มโปรแกรมปรับปรุงระดับจิตวิญญาณของตนเอง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี แต่มันสามารถเปลี่ยนเป้าหมายอย่างรวดเร็วเป็น "เรื่องราวเกี่ยวกับตัวฉันเอง" และสิ่งที่ฉันกำลังทำอย่างสุดความสามารถเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย หากฉันเริ่มคิดเกี่ยวกับตัวฉันมากกว่าพระคุณและความเมตตาที่พระเยซูได้แสดงให้ฉันเห็นนั้น ฉันก็กำลังล้มเหลว

กุญแจสำคัญในการรักษาแรงบันดาลใจและพบกับความสุขที่แท้จริงในการเดินทางชีวิตของเรานั้นอยู่ในข้อที่ 9 - เพื่อเติบโตในความรักต่อพระเยซูและต่อกันและกัน ความรักนั้นต้องการที่จะขยายและลึกซึ้งยิ่งขึ้นเหมือนพืชที่แผ่ไปทั่วผิวดินในขณะที่รากของมันจมลึกลงไปในดิน เราจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเยซู เราจำเป็นต้องรู้จักพระองค์มากกว่านี้จนกว่าความรักของพระองค์จะเปลี่ยนแปลงจิตใจและความคิดของเราให้กลายเป็นคนที่รู้ว่าจะกระทำทุกสิ่งออกมาจากใจ โดยพระองค์และเพื่อพระองค์

นี่ไม่ใช่วิธีแก้ไขที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายหรือรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้ อ.เปาโลอธิษฐานเผื่อชาวฟิลิปปี เราต้องการความช่วยเหลือจากพระเจ้าในการเรียนรู้และดำเนินชีวิตในความรักของพระเยซู แต่ถ้านี่คือความปรารถนาของพระเจ้าสำหรับเรา เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานแน่นอน

“ข้าพเจ้าทูลขอให้ประทานความเข้มแข็งภายในจิตใจด้วยฤทธานุภาพที่มาทางพระวิญญาณของพระองค์

แก่พวกท่าน ตามพระสิริอันอุดมของพระองค์ ให้พระคริสต์ประทับในใจของท่านโดยทางความเชื่อ

ให้ท่านได้หยั่งรากและตั้งมั่นอยู่ในความรัก ข้าพเจ้าทูลขอให้ท่านสามารถเข้าใจร่วมกับธรรมิกชนทั้งหมด

ถึงความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก คือให้ซาบซึ้งในความรักของพระคริสต์ซึ่งเกินความรู้

เพื่อพวกท่านจะได้รับความบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม” เอเฟซัส 3:16-19

ตอบสนอง:

  • อะไรเป็นแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจให้คุณตั้งใจมีชีวิตที่บริสุทธิ์และไม่มีตำหนิ?

  • ขอให้คุณใช้เวลาสักครู่หนึ่งพิจารณาถึงความรักของพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์ได้สำแดงความรักของพระองค์ต่อคุณอย่างไร?

  • ขอให้คุณอธิษฐานตามอย่างที่อ.เปาโลอธิษฐานในพระธรรมเอเฟซัส 3 สำหรับตัวคุณเอง และคนอื่นๆที่คุณห่วงใย

ความยินดีในการเดินทาง: อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงให้ดีขึ้น

อ่าน ฟิลิปปี 1:1-6

1เปาโลและทิโมธี ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์ เรียน บรรดาธรรมิกชนทุกท่านในพระเยซูคริสต์ซึ่งอยู่ในเมืองฟีลิปปี รวมทั้งบรรดาผู้ปกครองดูแลและมัคนายก 2ขอให้พระคุณและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเราและจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า จงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด 3ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระเจ้าทุกครั้งที่ระลึกถึงท่านทั้งหลาย 4และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทูลขอเพื่อท่านทุกคน ก็ทำการทูลขอด้วยความยินดีเสมอ 5เพราะท่านทั้งหลายมีส่วนร่วมในข่าวประเสริฐตั้งแต่วันแรกจนเวลานี้ 6ข้าพเจ้าแน่ใจอย่างนี้ว่าพระองค์ผู้ทรงเริ่มต้นการดีไว้ในพวกท่าน จะทรงทำให้สำเร็จจนถึงวันแห่งพระเยซูคริสต์

*****

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว CMIS Learning Center อาคารใหม่ของโรงเรียนได้เปิดทำการเป็นครั้งแรก เป็นช่วงเวลาแห่งความยินดีเมื่อเราได้เห็นความสำเร็จในการก่อสร้างครั้งนี้ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ และบุคลากรของโรงเรียน คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ผู้บริจาคเงินในการก่อสร้าง สถาปนิกผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งคนอื่น ๆ ล้วนมีบทบาท (ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก) ในการที่ทำให้โครงการนี้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งการมีส่วนร่วมของพวกเขาในครั้งนี้มีค่ามากจริงๆ

ดิฉันไม่แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้สำหรับโครงการนี้หรือเปล่า เพราะงานทุกๆ งานที่ดำเนินอยู่ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรล้วนแล้วแต่จะต้องพบเจอกับอุปสรรคปัญหาที่ผู้ทำงานต้องหาทางออกเสมอ และสิ่งนี้เองเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโตเพื่อให้งานดำเนินจนบรรลุผลสำเร็จ บางทีการพบเจอกับอุปสรรคปัญหามากมายอาจยิ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเมื่อเห็นงานนั้นๆสำเร็จ

เมื่อดิฉันได้อ่านตอนเริ่มต้นจดหมายของ อ.เปาโล ถึงชาวฟิลิปปี ดิฉันรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่ อ.เปาโลเขียนด้วยความยินดีเช่นนี้ ทั้งๆที่ท่านยังอยู่ในคุก!

และทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทูลขอเพื่อท่านทุกคน ก็ทำการทูลขอด้วยความยินดีเสมอ

อ.เปาโลขอบคุณพระเจ้าสำหรับความร่วมมือของชาวฟิลิปปีในการประกาศข่าวประเสริฐด้วยความยินดี การที่ อ.เปาโลเขียนเช่นนี้หมายความว่าคนฟิลิปปีเป็นคนที่สมบูรณ์แบบหรือไม่? ไม่เลย พวกเขาก็เป็นคนบาปอย่างคุณกับฉัน รวมทั้งอ.เปาโลด้วย แต่เหตุผลที่ อ.เปาโล เต็มไปด้วยความยินดีเช่นนี้ ก็เพราะเขาเห็นว่าพวกเขากำลังทำงานของพระเจ้าอยู่ ความเชื่อมั่นที่แท้จริงของอ.เปาโลไม่ได้อยู่ที่ชาวฟิลิปปี แต่อยู่ในพระเจ้าผู้สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ตั้งแต่เริ่มต้น หากคุณเคยสงสัยว่าสิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้หรือไม่ลองนึกถึงงานที่ทำสำเร็จแล้วบนไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์

ทำให้เรามีกำลังใจจริงๆ ที่รู้ว่าเราเองอยู่ในกระบวนการสร้างของพระเจ้า และยังช่วยเราให้มอง "พี่น้องที่ร่วมประกาศข่าวประเสริฐ" ของเราด้วยความยินดี มากกว่าความอดทนหรือการวิจารณ์เขา เพราะพระเจ้ายังทำงานของพระองค์ไม่เสร็จในการสร้างพวกเราแต่ละคน

“โปรดทรงสร้างชีวิตบริบูรณ์ เพิ่มพูนความวิสุทธิ์ภายใน

จนเราเห็นความรอดอันยิ่งใหญ่ ถวายวิญญาณให้ราชา

ขอทรงเพิ่มพูนรังสีรุ่งเรือง จนถึงเมืองวิมานปรีดา

ถวายมงกุฎแทบพระบาทา ดวงวิญญาณ์อัศจรรย์สรรเสริญ”

Charles Wesley

ตอบสนอง:

  • -ใครเป็นพี่น้องในความเชื่อหุ้นส่วนในข่าวประเสริฐในชีวิตของคุณ? คุณมองเขาด้วยความยินดีหรือไม่?

  • -การตระหนักรู้ว่าทุกคนยังสร้างไม่เสร็จ หรือเขายังอยู่ในกระบวนการสร้างของพระเจ้านั้น ช่วยให้เรามีท่าทีและมองคนอื่นๆอย่างไร


เหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซู: ทรงเป็นขึ้นจากความตาย

ยินดีต้อนรับกลับสู่โรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง

มัทธิว 28:1-10

“ภายหลังวันสะบาโต เวลาใกล้รุ่งเช้าวันอาทิตย์ มารีย์ชาวมักดาลากับมารีย์อีกคนหนึ่งนั้นมาดูอุโมงค์

2 ทันใดนั้นก็เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง เพราะมีทูตสวรรค์องค์หนึ่งขององค์พระผู้เป็นเจ้า ลงมาจากสวรรค์และกลิ้งก้อนหินออกจากปากอุโมงค์แล้วนั่งอยู่บนหินนั้น 3 รูปลักษณ์ของทูตนั้นเหมือนแสงฟ้าแลบ เสื้อขาวเหมือนหิมะ 4 พวกยามที่เฝ้าอยู่ก็กลัวทูตสวรรค์องค์นั้นจนตัวสั่นและเป็นเหมือนคนตาย

5 ทูตสวรรค์องค์นั้นกล่าวกับผู้หญิงเหล่านั้นว่า “อย่ากลัวเลย เรารู้แล้วว่าพวกท่านมาหาพระเยซูที่ถูกตรึงกางเขน 6 พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นี่ เพราะทรงเป็นขึ้นมาแล้วตามที่พระองค์ตรัสไว้นั้น จงมาดูที่ซึ่งเขาวางพระองค์ไว้นั้น 7 แล้วจงรีบไปบอกสาวกทั้งหลายของพระองค์ว่า พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว และพระองค์เสด็จไปยังแคว้นกาลิลีก่อนท่าน พวกท่านจะเห็นพระองค์ที่นั่น นี่แน่ะเราบอกพวกท่านแล้ว”

8 หญิงเหล่านั้นก็รีบไปจากอุโมงค์ ด้วยความกลัวและความยินดีเป็นอย่างยิ่ง และวิ่งไปบอกพวกสาวกของพระองค์ 9 นี่แน่ะ พระเยซูทรงพบพวกเขาและตรัสทักทาย หญิงเหล่านั้นก็มากอดพระบาทและกราบนมัสการพระองค์ 10 พระเยซูจึงตรัสกับพวกเขาว่า “อย่ากลัวเลย จงไปบอกพี่น้องของเราให้ไปยังกาลิลี จะได้พบเราที่นั่น”

****

ขอให้เราลองคิดภาพตาม เมื่อมารีย์ทั้งสองคนเดินไปหลุมฝังศพในเช้าวันนั้น เขาคงยังตกใจและสะเทือนใจกับการที่พระเยซูถูกประหารชีวิตอย่างไร้ความปราณี พวกเขากำลังพบเจอกับอะไรบ้าง ความเศร้าโศก? ความสับสน? ความโกรธ? และสิ้นหวัง? เมื่อพวกเขามาถึงหลุมฝังศพพร้อมกับเครื่องเทศที่พวกเขาได้เตรียมเพื่อจะเจิมศพของบุคคลอันเป็นที่รัก แต่โลกของพวกเขาก็ถูกเขย่าอีกครั้ง - สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แผ่นดินไหว; ก้อนหินกลิ้งออก ทหารที่ตัวสั่นเทาอยู่บนพื้น และทูตสวรรค์ที่ปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับแสงสว่างจ้า คุณเคยสังเกตไหมว่าคำแรกของทูตสวรรค์มักจะเป็นคำว่า “อย่ากลัวเลย!” และตามด้วยเหตุผลที่ดี!

พวกผู้หญิงรีบออกไปพร้อมกับความกลัวแต่ก็เต็มไปด้วยความสุขที่ได้รู้ว่าพระเยซูทรงฟื้นขึ้นมาจากความตาย และเมื่อพระเยซูมาพบพวกเขา ความสุขเช่นนี้! ช่างยิ่งใหญ่และน่าประหลาดใจ! พวกเขาต้องการความมั่นใจอีกครั้ง พระองค์ตรัสว่า “อย่ากลัวเลย!”

เป็นความจริงที่พระเยซูยังมีชีวิตอยู่ พระองค์ฟื้นคืนพระชนม์จากความตาย แต่ไม่เหมือนที่พระองค์ทรงทำให้ลาซารัสกลับมีชีวิต - ลาซารัสจะต้องตายอีก - แต่ "พระเจ้าทรงให้พระองค์เป็นขึ้นจากตายไม่ให้เน่าเปื่อยอีก" (กิจการ 13:34) พระองค์ทรงเป็น "ผลแรกของพวกที่ล่วงหลับไป” (1 โครินธ์ 15:20)

ความตายคือศัตรูที่พ่ายแพ้เพราะพระเยซูจ่ายค่าบาปทั้งหมดแล้ว และทุกคนที่วางใจในพระองค์สามารถมีชีวิตนิรันดร์ในพระองค์

หากเราจริงใจกับสิ่งที่เราต้องตอบ พวกเราหลายคนอาจไม่กลัวความตาย แต่กลัวกระบวนการที่นำเราสู่ความตายนั้น สิ่งที่ช่วยเราให้สบายใจคือการรู้ว่าพระเยซูเสด็จไปที่นั่นเพื่อเราและต่อหน้าเรา ตอนนี้ความตายไม่ใช่ปลายทางสุดท้ายของเรา แต่เป็นประตูสู่ชีวิตนิรันดร์ - ซึ่งจะเป็นอิสระจากความเศร้าโศก ความบาปและความเจ็บปวด และนำเราสู่การอยู่ต่อหน้าผู้ที่รักเราอย่างที่สุด

เทศกาลอีสเตอร์คุ้มค่าต่อการเฉลิมฉลองจริงๆ!

ตอบสนอง

  • ทำไมการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ?

  • การฟื้นจากความตายนี้ ควรมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคุณตอนนี้อย่างไร?

ฟังเพลง “ชีวิตคือความหวัง” โดย เอกพันธ์ วรรณสุทธิ์ (เพียวKPN): https://www.youtube.com/watch?v=dFfZ7difM1I


เหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซู: การถูกทรยศ

คุณเคยถูกคนที่คุณไว้ใจทรยศหรือไม่? พระเยซูก็เช่นกัน

ยอห์น 18:2-6

“ยูดาสคนที่จะทรยศพระองค์ก็รู้จักสวนนั้นด้วย เพราะว่าพระเยซูกับพวกสาวกเคยมาพบกันที่นั่นบ่อยๆ ยูดาสนำพวกทหารโรมันกับเจ้าหน้าที่มาจากพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกฟาริสี พวกเขาถือโคมถือไต้และอาวุธไปที่นั่นด้วย พระเยซูทรงทราบทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ พระองค์จึงเสด็จออกไปถามเขาว่า “พวกท่านมาหาใคร?” เขาทูลตอบพระองค์ว่า “มาหาเยซูชาวนาซาเร็ธ” พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “เราเป็นผู้นั้น” ยูดาสคนที่ทรยศพระองค์ก็ยืนอยู่กับคนเหล่านั้น เมื่อพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เราเป็นผู้นั้น” เขาก็ถอยหลังและล้มลงที่ดิน

****

“การให้อภัยศัตรูง่ายกว่าการให้อภัยเพื่อน” วิลเลียมเบลค

การทรยศ คำที่ทำให้เรารู้สึกว่าท้องของเราปั่นป่วน เพราะพวกเราส่วนใหญ่คงมีประสบการณ์กับความรู้สึกแย่ที่ถูกหักหลังในหลากหลายรูปแบบ: จากการกระทำของคนที่เราไว้ใจ ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด โกรธเคือง จนเป็นแผลเป็น เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้เราวางตัวเองในมุมของพระเยซูและรู้สึกถึงความถูกต้องที่จะโกรธสิ่งที่ยูดาส พระเยซูไม่ได้ทำสิ่งใดเพื่อให้สมกับพฤติกรรมของยูดาส พระองค์แสดงความรักต่อยูดาส ซึ่งเราอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเลย! ยูดาสทำสิ่งนี้ได้อย่างไร?

แต่เราเคยมองตัวเองในมุมของยูดาสหรือไม่ เรากำลังตกอยู่ในอันตรายของการทรยศพระเยซูด้วยหรือเปล่า? ยูดาสทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และเพราะเขาเองไม่ชอบวิธีของพระเยซูในการทำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีเลยเมื่อถูกสอนว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นผิด คำถามคือเราจะเลือกทำอย่างไรเมื่อพระเยซูไม่ตอบสนองความต้องการหรือความคาดหวังของเรา เราจะไม่ไว้วางใจในพระองค์ หรือปฏิเสธพระองค์ หรือทรยศพระองค์? สิ่งเหล่านี้เป็นความจงใจกระทำ

แต่เรายังมีความหวังจากการอ่านพระคำในวันนี้: ในความยิ่งใหญ่ของพระเยซู ขอให้เราสังเกตุดูกลุ่มข้าราชการและทหารพร้อมอาวุธที่มาจับพระองค์ กลุ่มคนเหล่านี้ล้มลงที่ดินต่อหน้าพระเยซูเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นผู้นั้น” โดยไม่ทันรู้ตัวพวกเขากราบคำนับต่อบุตรของพระเจ้า ยูดาสทรยศพระองค์ แต่พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าเสด็จสิ้นพระชนม์ด้วยความเต็มพระทัย เพื่อปลดปล่อยเราให้พ้นจากอำนาจแห่งความบาปผิดและความตาย ไม่มีการทรยศหรือสถานการณ์เลวร้ายใดๆ ที่เกินกว่าอำนาจแห่งการทรงไถ่และความรักของพระองค์

“แต่ท่านถูกแทงเพราะความทรยศของเรา

ท่านบอบช้ำเพราะความบาปผิดของเรา

การตีสอนที่ตกบนท่านนั้นทำให้พวกเรามีสวัสดิภาพ

และที่ท่านถูกเฆี่ยนตีก็ทำให้เราได้รับการรักษา" อิสยาห์ 53: 5

ตอบสนอง

  • คุณกำลังแบกความเจ็บปวดจากการถูกทรยศหักหลังหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้นขอพระเยซูช่วยคุณที่จะให้อภัยคนที่ทำร้ายคุณและขอพระองค์รักษาบาดแผลนั้น

  • คุณจำเป็นต้องขอการอภัยจากพระเยซูในสิ่งที่คุณทำผิดต่อพระองค์หรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่คุณทำผิดต่อคนอื่นที่คุณต้องขอโทษเขาหรือเปล่า?

  • วันนี้คุณรู้สึกสำนึกพระคุณในความยิ่งใหญ่ของพระเยซูหรือไม่? คุณจะสำแดงออกมาในชีวิตอย่างไร

เหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซู: ความทุกข์ใจ

มัทธิว 26:36-42 การอธิษฐานในสวนเกทเสมนี

แล้วพระเยซูทรงพาสาวกทั้งหลายมายังที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่าเกทเสมนี แล้วตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ขณะเมื่อเราไปอธิษฐานที่โน่น” 37พระองค์ก็ทรงพาเปโตรกับบุตรทั้งสองของเศเบดีไปด้วย พระองค์ทรงเริ่มโศกเศร้าและทรงทุกข์ใจอย่างยิ่ง 38จึงตรัสกับพวกเขาว่า “ใจของเราเป็นทุกข์แทบจะตาย จงอยู่ที่นี่และเฝ้าระวังกับเรา” 39แล้วทรงดำเนินไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็ซบพระพักตร์ลงถึงดินอธิษฐานว่า “โอพระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าเป็นได้ขอให้ถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์เถิด แต่อย่างไรก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจปรารถนาของข้าพระองค์ แต่ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์” 40แล้วพระองค์เสด็จกลับมาหาพวกสาวก ทอดพระเนตรเห็นเขาทั้งหลายนอนหลับอยู่ พระองค์ตรัสกับเปโตรว่า “เป็นอย่างไรนะ พวกท่านจะเฝ้าระวังอยู่กับเราสักชั่วโมงไม่ได้หรือ? 41ท่านทั้งหลายจงเฝ้าระวังและอธิษฐานเพื่อจะไม่ถูกทดลอง จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง” 42พระองค์จึงเสด็จไปทรงอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สอง “ข้าแต่พระบิดาของข้าพระองค์ ถ้าถ้วยนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพระองค์ไม่ได้ และข้าพระองค์จำต้องดื่มแล้ว ก็ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์”

*****

“ จิตใจใดที่สามารถทุกข์ใจจนถึงที่สุด เป็นจิตใจที่ดี” แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์

หากเราได้ไตร่ตรองถึงการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์เมื่อสัปดาห์ก่อน จะทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกเสียใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ในจิตใจของเรา - เหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของเราหรือผู้คนที่เราจะไม่ได้พบเจออีกต่อไป ความโศกเศร้าลักษณะนี้สามารถเป็นสิ่งที่พระเจ้าอนุญาตให้เกิดขึ้นได้หรือไม่เพื่อเราจะเห็นผลดีในภายหลัง?

พระเยซูรู้จักความโศกเศร้าอย่างดี พระองค์สูญเสียสมาชิกในครอบครัวคือยอห์นบัพติศมาซึ่งถูกสั่งประหารชีวิตโดยเฮโรดให้ตัดศรีษะ รวมทั้งความโศกเศร้าของการได้เห็นผู้คนที่เปลี่ยนใจไม่ติดตามพระองค์อย่างนักปกครองหนุ่มผู้ร่ำรวย แต่คงไม่มีอะไรเทียบได้กับความโศกเศร้าที่พระเยซูทรงพบในข้อที่เราได้อ่านด้วยกันวันนี้ ซึ่งนำพระเยซูไปสู่ “เป้าหมายแห่งความตาย” นี่คือความเศร้าโศกของถ้วยแห่งความทุกข์ ซึ่งรวมถึงการทรยศและการถูกทอดทิ้งจากสาวกหรือเพื่อนของพระองค์ ข้อกล่าวหาที่ผิด การทุบตีที่โหดร้าย และความทรมานจนถึงความตายบนไม้กางเขน อย่างไรก็ตามความทุกข์โศกของพระองค์มีมากกว่าสิ่งเหล่านี้

สำหรับพระเยซูความโศกเศร้าที่สุดของกางเขนคือการแยกจากพระบิดา - พระเจ้าผู้บริสุทธิ์และไม่สามารถมองดูบาปได้ - เพราะพระเยซูผู้ซึ่งปราศจากบาปถูกทำให้แปดเปื้อนและมีมลทินด้วยความสกปรกและความผิดบาปของเรา ขอให้เราไม่มีวันคิดว่านี่เป็นเรื่องง่ายที่พระเยซูสิ้นพระชนม์แทนเรา

คงไม่มีใครยอมทำสิ่งที่พระเยซูทรงกระทำ แต่ถึงกระนั้นพระเยซูก็ได้ผ่านการขอร้องที่พระองค์เองจะขอไม่รับถ้วยนี้ จนกระทั่งพระองค์เต็มใจที่จะดื่ม เพราะด้วยการสิ้นพระชนม์และไถ่โทษบาปแทนเราเป็นวิธีเดียวเท่านั้น

พระเยซูเข้าใจความโศกเศร้าทุกข์ใจมากกว่าใคร พระองค์เกิดมาด้วยความเศร้าโศกที่เราจะไม่ต้องแบกรับเพื่อที่เราจะไม่ต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านั้นและเพื่อที่เราจะสามารถมีความหวังแม้ในวันที่มืดมนที่สุด

“ภายหลังความทุกข์ลำบากแห่งวิญญาณจิตของท่าน

ท่านจะเห็นความสว่างของชีวิตและพึงพอใจ

โดยความรู้ของท่านผู้ชอบธรรมคือผู้รับใช้ของเรา

จะกระทำให้คนเป็นอันมากนับได้ว่าเป็นคนชอบธรรม

และท่านจะแบกบรรดาความบาปผิดของเขาทั้งหลาย” อิสยาห์ 53:11

ตอบสนอง

  • ให้เราขอบคุณพระเยซูสำหรับการตัดสินใจของพระองค์ในการสิ้นพระชนม์เพื่อรับโทษบาปแทนเราและประทานความหวังให้กับเรา

  • พระเจ้าใช้ความทุกข์โศกเพื่อสิ่งดีในชีวิตของเราอย่างไร มีสิ่งใดที่คุณสามารถทำได้เพื่อช่วยคนอื่นที่กำลังประสบกับความโศกเศร้าในตอนนี้?